กรุงเทพฯ 12 ก.ค. – นักวิชาการทีดีอาร์ไอ คาดปีนี้จีดีพีโตเพียง 1.5% จากผลโควิดลากยาว ด้าน กฟผ.ประเมินการใช้ไฟฟ้ายังโต 1.68% ขณะที่บริษัทลูก เอ็กโก กรุ๊ป เสนอแผนสร้างโรงไฟฟ้าขนอมเพิ่มเติม ส่วนราชกรุ๊ปได้เงินกู้ยั่งยืน 150 ล้านดอลลาร์ฯ จาก IFC
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา TDRI ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 3 ที่ล่าสุดล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ระดับสูง ซึ่งภาครัฐต้องเร่งเยียวยา เช่น ภาคบริการที่ได้รับผลกระทบมาหลายระลอก โดยควรช่วยเหลือการเงินพิจารณาเป็นรายหัวของการจ้างงาน เพื่อพยุงธุรกิจและรักษาการจ้างงาน ซึ่งวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 2 ฉบับ ยังเหลือรวม 800,000 ล้านบาท และจากผลกระทบที่ยาวนานเกินคาด มีความไม่แน่นอนสูง ก็ส่งผลด้านอื่นๆ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติคงเหลือประมาณ 500,000 คน จากเดิมคาด 1 ล้านคน และจีดีของไทยคงขยายตัวราว 1.5%
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาพรวมช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-15 มิ.ย.) ลดลงประมาณ 0.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยคาดการณ์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตและรับซื้อในระบบ กฟผ. ตลอดทั้งปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 195,159.20 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.68% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่หดตัว 3% เนื่องจากประเมินว่า ภาคการส่งออกของไทยที่มีการประเมินว่าจะเติบโต 8-10% จากปีที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลมีแผนที่จะเร่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว
“ผลกระทบโควิด-19 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง มีการทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น ส่งออกโต ก็คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าปี 63 ส่วนในแง่ผลกระทบโควิดต่อการดำเนินงาน กฟผ. มีในแง่ของการนำเข้าอุปกรณ์ต่างประเทศที่ล่าช้าไปบ้าง ซึ่งก็พยายามปรับตัวปรับการทำงานให้กระทบน้อยที่สุด“ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้นำเสนอกระทรวงพลังงาน พิจารณาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 5 (ชุด 1 และชุด 2) กำลังการผลิตรวม 1,600 เมกะวัตต์ ในแผนพีดีพี 2022 เสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ในระยะยาว เพราะหากโควิด-19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวภาคใต้ฟื้นตัว ความต้องการไฟฟ้าจะกลับมาพุ่งสูงขึ้น และจะเสนอรัฐบาลสร้างโรงไฟฟ้า BLCP ส่วนขยาย 1,000 เมกะวัตต์ เปลี่ยนใช้ก๊าซฯ แทนถ่านหิน เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคตะวันออก ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้อยู่บนพื้นที่โรงไฟฟ้าปัจจุบัน มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว จึงมีความเหมาะสม ต้นทุนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับโรงใหม่
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืนครั้งแรกสำหรับบริษัทระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศไทย กับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation : IFC) มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ กรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน ได้จัดทำขึ้นตามหลักการ Green Loan Principles (GLP) และ Social Loan Principles (SLP) ที่กำหนดและกำกับโดย Loan Market Association ซึ่งจะช่วยให้ ราช กรุ๊ป สามารถระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเติบโตในโครงการสีเขียว และโครงการที่เป็นประโยชน์ด้านสังคมในอนาคตต่อไปได้. – สำนักข่าวไทย