กรุงเทพฯ 6 ก.ค. – “ซุปเปอร์” กระทุ้งอีอีซี เพิ่มแผนพลังงานทดแทน ตอบโจทย์โลกและสงครามการค้า ที่นำคาร์บอนฯ มากีดกัน โดยบริษัทพร้อมจำหน่ายโซลาร์ฯ 2,000 เมกะวัตต์ ในอีอีซี ย้ำโมเดล เอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม ต้นทุนถูกกว่าไฟฟ้าฐานในระบบ
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า จากทิศทางการค้าโลกที่มุ่งไปสู่การลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และนำมาเป็นเรื่องกีดกันทางการค้า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ประชุมและทำหนังสือถึงรัฐบาลขอให้ตระหนักเรื่องนี้ และขอให้เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน ดังนั้น เพื่อตอบสนองเรื่องดังกล่าว ทั้งลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถขายคาร์คอนฯ ได้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงควรพิจารณาส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในปริมาณที่สูงขึ้น เพื่อตอบโจทย์สิ่งนี้ โดยทางบริษัทฯ มีความพร้อมที่จะผลิตไฟฟ้าส่วนนี้ โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์
“โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น โซลาร์ฟาร์ม นับวันจะถูกแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะขยายการส่งเสริมจากร้อยละ 35 ของกำลังผลิตของประเทศในอนาคตเป็นร้อยละ 50 และยิ่งตลาดลดคาร์บอนเป็นตัวกดดันก็ควรยิ่งเร่งการผลิต โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ถ้าจะดึงดูดการลงทุน” นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ ยืนยันด้วยว่า ทิศทางของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม จะไม่สูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังตอบสนองเรื่องเสถียรภาพได้ด้วย โดยจะเห็นจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ของบริษัทฯ ที่เป็นโครงการแรกของประเทศและอาเซียน ที่ใหญ่ที่สุดในการนำกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม ผสมผสานกับไบโอแก๊ส อีก 1 เมกะวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ขนาด 136 เมกะวัตต์-ชั่วโมง โครงการปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขนาด 16 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม 49 เมกะวัตต์ สามารถขายไฟฟ้าแบบเฟิร์มได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าตามช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ 2.88 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุด และถือว่าต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้า ที่ค่าไฟฟ้าหลัก (Base Load) อยู่ที่ประมาณ 3.80 บาท/หน่วย
โครงการ SPP Hybrid Firm ของบริษัทฯ จะลงทุนราว 2,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.สระแก้ว คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ได้ทำการสั่งซื้ออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึง ESS ที่คาดว่าจะจัดส่งเข้ามาภายในไตรมาส 3 ปี 2565 และจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้น จะกลายเป็นโรงไฟฟ้าเอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม ที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศและใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นการติดตั้งผสมผสานกับ ESS ที่มีขนาดใหญ่ หรือเทียบได้กับตู้คอนเทนเนอร์มาวางเรียงกันประมาณ 136 ตู้
ขณะที่ราคาต้นทุนแบตเตอรี่ ปัจจุบันถือว่าถูกลงมาก และน่าจะเอื้อให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากเดิมช่วงแข่งประมูลโครงการนี้ เมื่อ 3 ปีก่อน ต้นทุนอยู่ที่ราว 4-5 แสนดอลลาร์ฯ และเมื่อส่งมอบของในไตรมาส 3 ปี 2565 คาดว่าราคาจะอยู่ที่ 1.2-1.4 แสนดอลลาร์ฯ ถูกลงประมาณ 3 เท่า หากโครงการนี้เสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 230-250 ล้านบาท/ปี และต่อเนื่องไปตลอด 20 ปี ตามอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ระดับ 16%. – สำนักข่าวไทย