นนทบุรี 5 ก.ค.-อัตราเงินเฟ้อ เดือนมิ.ย .64 บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ร้อยละ 1.25 แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบเดือนก่อน จากราคาน้ำมันสูง กลุ่มอาหารสดขึ้น และมาตรการช่วยเหลือภาครัฐโดยเฉพาะชดเชยไฟฟ้า ประปา และปรับฐานเงินเฟ้อทั้งปีใหม่อยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7 ในปี 64
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ เงินเฟ้อประจำเดือนมิถุนายน 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 1.25 โดยขยายเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงเพราะเทียบกับเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 2.44 สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 64 เพิ่มขึ้นกลุ่มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กลุ่มพลังงานมีอัตราสูงขึ้น ประกอบกับกลุ่มอาหารสดทั้งสุกร ไก่ ยังมีแนวโน้นสูงอยู่ แต่กลุ่มผัดสดชนิดต่างๆได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ทำให้ปิดตลาดสดในหลายพื้นที่ ทำให้ผักสดเน่าเสียและเจอปัญหาอากาศร้อนจัดตามฤดูกาลทำให้ผักบางชนิดมีราคาแพงขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ไม่แพงจนเกินไป
ทั้งนี้ อีกเหตุผลที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 64 ปรับสูงขึ้นมาก คือ จากมาตรการภาครัฐโดยเฉพาะการชดเชยไฟฟ้า น้ำประปาที่ภาครัฐลดค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทิศทางเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม 64 ยังคงจะเป็นบวกอยู่ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ย 6 เดือนเฉลี่ยนอยู่ที่ร้อยละ 0.89 และคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 เงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.13 และไตรมาส 4 อยู่ที่ร้อยละ 2.37 โดยส่วนหนึ่งมาจากอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ที่มีแนวโน้นเพิ่มขึ้นก็มาจากมาตรการภาครัฐผ่านโครงการคนละครึ่งและอื่นๆที่เข้ามากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สนค.ได้มีการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 64 ใหม่เมื่อครบครึ่งปีแรก 64 แล้ว โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อปี 64 จะเป็นบวกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7 มีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 1.2 โดยมีปัจจัยสมมุติฐานประกอบด้วยจีดีพีของประเทศเป็นบวกร้อยละ 1.5-2.5 อัตราแลกเปลี่ยน 30.0-32.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ .-สำนักข่าวไทย