กรุงเทพฯ 5 ก.ค. – FETCO เผย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงสู่เกณฑ์ทรงตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 และการไหลเข้าของเงินทุน ขณะที่กังวลกับสถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ที่ยืดเยื้อ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.05 ปรับตัวลดลง 16.1% จากเกณฑ์ร้อนแรงเดือนก่อนมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกปัจจุบันที่ยืดเยื้อ รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดการแพทย์ (HEALTH) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
สำหรับในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2564 SET index ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกระแสเงินลงทุนของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่ทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นกลุ่ม Emerging Markets จากปัจจัยหนุนที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง โดยเป็นผลจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และการปูพรมฉีดวัคซีนในประเทศตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลัง ดัชนีมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนในการส่งมอบวัคซีนซึ่งส่งผลต่อแผนการฉีดวัคซีนในประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตต่อวันเพิ่มขึ้นสูง การประกาศกึ่งล็อคดาวน์ในกรุงเทพฯ และจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงมาอยู่ที่ 1.8% และ 3.9% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ส่งผลให้ SET index ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ปิดที่ 1,587.79 จุด ปรับตัวลดลง 0.4% จากเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าการพิจารณาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนปรับขึ้นภาษีของประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยในการประชุม G20 ในวันที่ 9-10 กรกฎาคมนี้ ที่จะมีการหารือเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำที่ระดับ 15% ทั่วโลก การประกาศประมาณการ GDP ของ IMF สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายประเทศ และการเฝ้าระวังการระบาดของ Covid-19 สายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยได้
ในส่วนของปัจจัยในประเทศ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดระลอกปัจจุบันที่ยืดเยื้อซึ่งจะส่งผลต่อภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข แผนการจัดหาและอัตราการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งจะกระทบต่อความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างประเทศเกี่ยวกับแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันตามประกาศของนายกรัฐมนตรี ผลการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ “ภูเก็ตแซนต์บ๊อกซ์” ในเดือนกรกฎาคมนี้ และมาตรการภาครัฐในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ FETCO มองว่า ตลาดหุ้นไทยมีทิศทางเป็นขาขึ้น และคงเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2564 ที่ 1,680 จุด โดยได้ปัจจัยหนุนจากพัฒนาการการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกที่คาดว่าในช่วงปลายปี 2564 จะปรับขึ้นแตะ 1 หมื่นล้านคน แม้จำนวนการฉีดวัคซีนของไทยในปัจจุบันยังรั้งท้ายประเทศอื่นๆ แต่การเริ่มผลิตวัคซีนเองในประเทศและการนำเข้าวัคซีนเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนต่อจากนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มขาขึ้นในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน อัตราการเร่งฉีดวัคซีน แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ความเสี่ยงหลักคือ การบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในปีหน้าอย่างประเมินได้ยากถ้าปีหน้ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 10 ล้านคน มองว่าประเทศไทยยังเหนื่อย
ขณะที่เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทั่วโลกเป็นเพียงภาวะชั่วคราวไม่ส่งผลให้ FED หรือ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนปี 2023 ด้านผลกระทบจาก QE Tapering ต่อตลาดหุ้นไทยยังไม่น่าห่วงเพราะ เงินต่างชาติในตลาดหุ้นไทยเหลือน้อย ด้านกำไรบริษัทจดทะเบียนคาดว่าจะขยายตัว 56% ในปีนี้และ 15% ในปีหน้า พร้อมตั้งเป้าหมาย SET Index ที่ 1,800 จุด ในปี 2022 . – สำนักข่าวไทย