กรุงเทพฯ 5 ก.ค.-กฟผ.เดินหน้าพัฒนาสมาร์ทซิตี้แม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน.ดำเนินการไปพร้อมๆกับแผนของภาครัฐที่โรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายจะเกิดขึ้นที่นี่
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า
กฟผ.มีแผนจะพัฒนาพื้นที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ.จ.ลำปาง จะใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในกิจการเหมืองฯ ซึ่งปัจจุบัน การทำเหมืองฯ จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการขุดดิน ขุดถ่านหิน เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลง
แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ กฟผ.เตรียมพัฒนาเหมืองแม่เมาะเป็นโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ “แม่เมาะสมาร์ทซิตี้” เป็นเมืองต้นแบบใช้พลังงานหมุนเวียน จะมีทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม รวมถึงจะมีโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับด้วย โดยระยะยาวเมื่อเหมืองแม่เหมาะ ได้หยุดทำการขุดถ่านหรือถ่านหินในพื้นที่หมดลงตามอายุของโรงไฟฟ้าแม่เหมาะ ซึ่งน่าจะใช้เวลาร่วม 30 ปีขึ้นสามารถสร้างโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับด้วย เพราะการขุดถ่านหินในปัจจุบัน ต้องขุดลงไปลึกตั้งแต่ 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร ทำให้พื้นที่ด้านล่างของเหมืองมีน้ำ ดังนั้นทำให้พื้นที่ข้างบนกลายเป็นแอ่งน้ำ เหมือนเช่นเขื่อนลำตะคอง ก็จะสามารถเปรียบเป็นเป็นแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ให้กับประเทศได้ รองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้น
ปัจจุบัน กฟผ.ได้มีโครงการศึกษานำเอาพืชเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ด เพื่อนำมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงเผาพร้อมกับถ่านหิน ช่วยลดการเผาป่า และลดการเผาพืชผลทางการเกษตร ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และยังเป็นการรับซื้อพืชจากเกษตรกรในพื้นที่ ขณะนี้กำลังจัดซื้อเครื่องจักรเข้ามาติดตั้ง คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ภายในปีนี้
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 (MMRP2) ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ของ กฟผ. จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายที่รัฐจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ และบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1(PDP 2018 Rev.1) แล้ว ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในกระบวนการนำเสนอภาครัฐเพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการตามขั้นตอน โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือน ม.ค.2569 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่โรงไฟฟ้า เป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานและเหมืองลิกไนต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด. -สำนักข่าวไทย