กรุงเทพฯ 29 มิ.ย. – ปตท.ตั้งเป้าผลิตยานยนต์อีวี 1 แสนคัน/ปี เป็นหนึ่งในแผนศึกษาร่วมทุนกับ “ฟ็อกซ์คอนน์” ด้านประธานบอร์ดอีวี เร่งทำตามแผนนำประเทศไทยสู่เป้าหมายผลิตอีวี 30% ปี 2030
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวในงานเสวนา “รถยนต์ไฟฟ้าพลิกโอกาสธุรกิจเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทย” ว่า กลุ่ม ปตท.วางแผนเรื่องห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ครบวงจร ล่าสุดการที่ ปตท. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนด้านอีวี กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) จากไต้หวัน เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย และจะเป็นโรงงานกลางที่สามารถรับจ้างผลิต และเป็นฐานทางด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รถอีวีได้หลายยี่ห้อ และหากศึกษาแผนร่วมทุนกันสำเร็จ ปตท.จะพยายามดึงให้เกิดการจัดตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย เบื้องต้นมองเป้าหมาย กำลังการผลิตรถยนต์ 4 ล้อ อยู่ที่ 1 แสนคัน/ปี โรงงานนี้ไม่ได้สร้างแบรนด์ของตนเอง รับจ้างผลิตตามการออกแบบของลูกค้าที่ลูกค้าสร้างแบรนด์ของตัวเอง การดำเนินการเช่นนี้ก็จะลดต้นทุนในการผลิตอีวีในไทย
ส่วนรถ 2 ล้อ ปตท.กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการให้บริการ ธุรกิจให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ล่าสุดบริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) คาดว่าจะเปิดตัวภายใน 2 เดือนนี้ ซึ่งขณะนี้ได้นำเข้ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเข้ามาแล้ว จำนวน 40 คัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในส่วนที่จัดตั้งในปั๊มน้ำมัน ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้จัดตั้งแล้ว 30 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในสิ้นปีนี้ ส่วนการจัดตั้งนอกปั๊มน้ำมัน จะดำเนินการโดยบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด (“On-I on Solutions”) ซึ่งมีเป้าหมายจะติดตั้ง 100 แห่งในสิ้นปีนี้ ดังนั้น สิ้นปีนี้ ในส่วนของกลุ่ม ปตท.จะมีปั๊มชาร์จไฟฟ้าทั้งหมด 200 แห่ง
ในส่วนของแบตเตอรี่ ทางบริษัทลูก คือ GPSC มีการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน ที่ จ.ระยอง มีการเปิดตัวแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของประเทศไทย โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิต 24M จากสหรัฐ ขณะนี้โรงงานก่อสร้างเสร็จแล้ว เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา จะมีกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และกำลังพิจารณาเพิ่มเป็น 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ภายใน 2 ปี
นอกจากนี้ GPSC ได้จัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อดำเนินการเข้าลงทุนในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (“AXXIVA”) ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยี 24M มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท มีเป้าหมายกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 และเริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2565 เพื่อป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน ในขณะที่สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ของ ปตท. ก็มีการวิจัยแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอัดประจุไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำต้นแบบการผลิต
ส่วนเรื่องของ ESS ได้จัดทำโครงการ G-Box ระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System) ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) นำร่องติดตั้งในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อรองรับ EV Station พร้อมโซลูชั่นจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานี
“ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก พบว่า การผลิตรถเครื่องยนต์สันดาป ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เมื่อปี 2560 ชี้ให้เห็นว่า ต่อนี้ไปรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นอีวี ภายในปี 2583 จะมียอดการผลิตรถอีวีของโลกอยู่ที่ 500 ล้านคัน ถือเป็นเทรนด์ที่สูงมาก ซึ่ง ปตท.ก็ต้องเข้ามาลงทุนด้านนี้ เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว” นายอรรถพล กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ดอีวี) กล่าวว่า บอร์ดอีวีได้กำหนดส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถยนต์พลังงานสะอาด (Zero Emission Vehicle) หรือ ZEV ในประเทศช่วง 4 ปีแรก เน้นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไว้ที่ 225,000 คัน หรือ 10% ของกำลังการผลิตรถยนต์ และวางเป้าหมายการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า 2,000-4,000 แห่ง ภายในปี 2568 เพื่อให้ไทยสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ที่กำหนดการผลิตรถ ZEV ไว้ทั้งสิ้น 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด หรือ 720,000 คัน และมีสถานีจ่ายไฟ 12,000 แห่ง เพื่อให้ไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคตตามทิศทางของโลก ในขณะที่แบตเตอรี่นับเป็นป็นหัวใจของรถอีวี นับต้นทุนถึง 40% จึงวางแผนผลิตในระยะสั้นที่ราว 20 กิกะวัตต์ ก็น่าจะเป็นกำลังผลิตที่จะดึงดูดการลงทุนได้
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดการลงทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟแบบเร็ว และรวมไปถึงไฟฟ้า โดยได้มีการหารือกับ 3 การไฟฟ้าที่จะต้องพัฒนาสายส่งเป็นสายส่งอัจฉริยะ หรือสมาร์ทกริด สิ่งเหล่านี้ก็จะตอบสนองเทรนด์โลก ลดโลกร้อน ก็จะเห็นได้ว่าในการประชุมกลุ่มผู้นำ G7 ประกาศเจตจำนงในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขณะนี้ไทยเองปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 300 ล้านตัน/ปี ในขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตขณะนี้ราคาปรับขึ้นไปสู่ 50 ยูโร/ตัน หากในอนาคตไทยลดก๊าซฯ นี้และปรับมาเป็นการจำหน่ายผ่านโครงการต่างๆ ก็จะได้ตลาดนับเป็นมูลค่า 5 แสนล้านบาท/ปี
สำหรับเป้าหมายรถอีวี ที่เป็นรถ 4 ล้อ กำหนดผลิตในปี 2568 อยู่ที่ 225,000 คัน และปี 2573 รถ 4 ล้อ อยู่ที่ 725,000 คัน, รถ 2 ล้อ 675,000 คัน และรถบัส 34,000 คัน คิดเป็น 50% ของจำนวนรถบัสที่ผลิตออกมา. – สำนักข่าวไทย