กรุงเทพฯ 15 มิ.ย.-“ชาญศิลป์” มั่นใจจะนำการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูก่อน 5 ปี ด้านซีเอฟโอการบินไทย ยอมรับหมดรูป สภาพคล่องจะอยู่ไม่ถึงสิ้นปีนี้ ต้องหาเงินไม่ว่าทางไหนมาอุดรูรั่วด่วน! หากไม่มีเงินเข้าต้องขายทรัพย์สินเฉพาะหน้า เอาตึกอาคารสำนักงานใหญ่มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทค้ำ
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยภายหลังจากที่ ศาลล้มละลายกลางได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูการบินไทยว่า หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งผู้บริหารแผนประกอบไปด้วย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ,นายพรชัย ฐีระเวช, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ,นายไกรสร บารมีอวยชัย และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผนซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป รวมถึง คณะกรรมการเจ้าหนี้ ประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงเทพ กระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) และ สหกรณ์ออมทรัพย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด
“หลังจากแผนฟื้นฟูการบินไทยผ่านศาลฯตามขั้นตอนก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งตามขั้นตอนจะมีเวลาฟื้นฟูการบินไทยในเวลา 5 ปี และสามารถต่อได้อีก 2ครั้ง ครั้งละ 1 ปี ดังนั้นผมจะพยายามบริหารแผนฟื้นฟูให้สำเร็จก่อน 5 ปี และก่อนที่จะออกจากแผนฟื้นฟูการบินไทย 2 ปี จะต้องทำกำไรก่อนหักภาษี และค่าใช้จ่าย(EBITDA)เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยอมรับว่าการบินไทย ต้องการเงินใหม่เข้ามาเสริมสภาพคล่องการบินไทยอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะเข้ามาในรูปแบบเงินกู้ หรือจากทางไหน จะขอให้รายละเอียดอีกครั้ง ”นายชาญศิลป์
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวยอมรับว่า แม้ว่าแผนฟื้นฟูจะผ่านความเห็นชอบแล้ว แต่การบินไทยยังคงต้องการสภาพคล่องเข้ามาอย่างเร่งด่วน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการปรับลดพนักงาน ปรับโครงสร้างองค์กรไปแล้วก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันสภาพคล่องที่มีอยู่จะมีไม่ถึงสิ้นปี 2564 ดังนั้นทางฝ่ายผู้บริหารแผนฟื้นฟู และ ผู้บริหารจะต้องหาเงินมาเสริมสภาพคล่องเข้ามาซึ่งตามแผนการบินไทยจะต้องใช้เงินกว่า 50,000 ล้านบาท ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้เงินที่จะมาเสริมสภาพคล่องไม่จำเป็นต้องเป็นเงินก้อนทีเดียวตามแผน จะแบ่งเป็นจากภาครัฐ 25,000 ล้านบาท และ จากเอกชนจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่หากยังไม่ได้เงิน การบินไทยก็มีแนวทางคือ กู้เงินระยะสั้นมาก่อนโดยใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่มาค้ำประกัน หรือ ขายทรัพย์สินระดับรองที่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์มาเป็นเงินเสริมสภาพคล่อง ซึ่งแนวทางน่าจะเป็นการกู้แล้วเอาทรัพย์สินค้ำประกันซึ่งหากพิจารณาจะพบว่า ที่ตั้งอาคารสำนักงานใหญ่การบินไทย ตั้งอยู่ในทำเลทองและมีพื้นที่มากมูลกว่ารวมกว่า 1หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทาง นอกจากพื้นที่ดังกล่าว การบินไทยยังมีอาคารสำนักงานที่สีสม หลานหลวง และ ดอนเมือง รวมถึงสำนักงานที่อยู่ต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูการบินไทย และนายชาญศิลป์ แถลงข่าวถึงแผนฟื้นฟู และ มีการประชุมบอร์ดการบินไทยต่อนั้น มีรายงานข่าวระบุคาดว่านายชาญศิลป์ จะประกาศลาออกจากตำแหน่ง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารการบินไทยแต่ยังคงดำรงตำแหน่งเป็น 1 ในผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทยอยู่.-สำนักข่าวไทย