นนทบุรี 4 มิ.ย.-อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2564 ยังบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ร้อยละ 2.44 เทียบกับพฤษภาคม 2563 จากเหตุราคาน้ำมันสูง กลุ่มอาหารสดราคาขยับขึ้น ระบุมาตรการช่วยเหลือภาครัฐโดยเฉพาะชดเชยไฟฟ้า ประปา อาจทำให้เงินเฟ้อบวกไม่มาก
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือ เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2564 ว่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 2.44 โดยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 สาเหตุหลักเพราะกลุ่มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคากลุ่มพลังงานสูงขึ้น ประกอบกับกลุ่มอาหารสดทั้งสุกร ไก่ ยังมีแนวโน้มสูงอยู่ แต่กลุ่มผัดสดชนิดต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ทำให้ปิดตลาดสดในหลายพื้นที่ ทำให้ผักสดเน่าเสียและเจอปัญหาอากาศร้อนจัดทำให้ผักบางชนิดมีราคาแพงขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ไม่แพงจนเกินไปและ อีกเหตุผลที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมปรับสูงขึ้นมาก คือ จากมาตรการภาครัฐโดยเฉพาะการขดเชยไฟฟ้า น้ำประปาที่ภาครัฐลดค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่
สำหรับทิศทางเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2564 ยังเป็นบวกอยู่แต่จะน้อยลงกว่าเดือนพฤษภาคม และคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 เงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.3 และไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เงินเฟ้อเฉลี่ยแต่ละไตรมาสยังจะเป็นบวกแต่จะน้อยลงกว่าช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นหลัก
นอกจากนี้ จะต้องติดตามดูว่าภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 อย่างไร โดยเฉพาะการชดเชยค่าไฟฟ้า ประปา และอื่น ๆ หากแนวทางชดเชยไม่ยาวนานทิศทางอัตราเงินเฟ้ออาจจะไม่สูงขึ้นมาก โดย สนค.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2564 จะเป็นบวกเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2-1.7 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 0.7 โดยมีปัจจัยจีดีพีของประเทศบวกที่ร้อยละ 3.5-4.5 อัตราแลกเปลี่ยน 30.00-32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ต้องติดตามมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่จะออกมา หากมีต่อเนื่องโอกาสเงินเฟ้อทั้งปี อาจจะต้องพิจารณาปรับประมาณการณ์เงินเฟ้อใหม่ .-สำนักข่าวไทย