เพชรบุรี 30 พ.ค.-“จุรินทร์-อลงกรณ์” ลุยเพชรบุรี ช่วยชาวนาเกลือ ฝ่าโควิด-19 บุกตลาดในประเทศ-ต่างประเทศ-แปรรูป
วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตร และพบปะเกษตรกรชาวนาเกลือ ณ ตลาดกลางเกษตรหนองบ้วย อําเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
ภายหลังการตรวจเยี่ยมนายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่พูดถึงในวันนี้คือ”เกลือทะเล”จังหวัดที่ทำนาเกลือเยอะที่สุดคือ เพชรบุรีกับสมุทรสาคร และสมุทรสงครามบางส่วน โดยประเด็นปัญหาคือในช่วงวิกฤติโควิด-19 ราคาเกลือตกต่ำและมีเกลือนำเข้าจากอินเดียมาตีตลาดในประเทศ
วันนี้ได้ช่วยกันเจรจาหารือกับผู้ทำนาเกลือได้ข้อสรุปว่าในเรื่องของตลาดเกลือในประเทศอาจเป็นเรื่องเฉพาะกิจจะใช้งบคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หรือ คชก.เข้ามาช่วยดูแลเฉพาะการ เช่นเดียวกับพืชเกษตรตัวอื่นที่มีปัญหาตามฤดูกาล เช่นมะนาวและมะม่วง เป็นต้น จะแก้ปัญหาระยะสั้นโดยวิธีนี้ ส่วนการหาตลาดในประเทศจะให้ทีมงานเซลล์แมนจังหวัดเป็นผู้ช่วยดำเนินการ การแก้ปัญหา ส่วนเรื่องเกลือนำเข้าจากอินเดียตนได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศออกประกาศว่า 1.ผู้นำเข้าเกลือเข้ามาในประเทศต้องขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า 2.ต้องมีเอกสารแสดงว่านำเข้าจากประเทศไหน เมืองไหนอย่างไร เพื่อควบคุมกำกับการนำเข้าโดยการนำเข้า แจ้งพิกัดชัดเจน ที่ผ่านมากรมศุลกากรมีพิกัดเดียวสำหรับเกลือจากนี้จะแยกเป็น 2 พิกัดคือ 1.เกลือบริโภคและ 2.เกลืออุตสาหกรรม ให้มีการแจ้งรายละเอียดของการนำมากระจายในประเทศ เพื่อช่วยดูแลเกษตรกรผู้ทำนาเกลือในประเทศให้ได้รับความเป็นธรรมไม่ถูกเกลือนอกเข้ามาตีตลาด โดยประกาศนี้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกากำลังพิจารณาคาดว่าจะเสร็จในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ถ้าเสร็จตามนั้นผมจะลงนามบังคับใช้ต่อไปโดยเร็ว
“สำหรับระยะยาวจะให้จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกันแก้ปัญหาผลผลิตเกลือให้มีคุณภาพจะได้ไม่ถูกกดราคา และเรื่องการแปรรูปเข้ามาดูว่ามีแผนการกำกับอย่างไร จะเพิ่มนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าอย่างอื่น เช่น สบู่ เครื่องสำอาง และเครื่องใช้อื่นๆ รวมทั้งการช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้นาเกลือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของประเทศต่อไป
นอกจากนี้เรื่องปัญหาหนี้สินเกษตรกรผู้ทำนาเกลือที่มีหนี้สินกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ตนในฐานะรองนายกฯ กำกับดูแลอยู่ ตนได้ช่วยคลี่คลายปัญหาได้เยอะสำหรับเกษตรกรที่เป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เปิดโอกาสให้สามารถนำหนี้ที่เป็นหนี้สถาบันการเงินมาเปลี่ยนเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูได้ เพราะถ้าเปลี่ยนมาเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูและชำระกับกองทุนฟื้นฟูการดำเนินคดีจะผ่อนปรนลงและมีเงื่อนไขผ่อนปรนกว่าการเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน ช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสชำระหนี้ได้เต็มจำนวนในอนาคต และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นหนี้ต่ำกว่า 2.5 ล้านบาทสามารถเปลี่ยนเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูได้ และผู้ที่มีหนี้เกินกว่า 2.5 ล้านบาทตนเปิดโอกาสแล้วที่จะให้เข้ามาเป็นหนี้กองทุนได้เป็นกรณีไป ชาวนาเกลือจำนวนหนึ่งเป็นหนี้เกิน 2.5 ล้านบาทเพราะตีมูลค่าที่ดินด้วยจึงทำให้มีราคาสูง ” นายจุรินทร์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย