นนทบุรี 25 พ.ค. – พาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกเดือน เม.ย. ยังเป็นบวกต่อเนื่องร้อยละ 13.09 เป็นเดือนที่ 5 สูงสุดในรอบ 3 ปี แม้ทั่วโลกเจอปัญหาระบาดโควิดก็ตาม มั่นใจโอกาสตัวเลขส่งออกตลอดปี 64 น่าจะบวกได้ร้อยละ 4 เป็นไปได้สูง
นายภูสิต รัตนกุลเสรี เริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศในเดือนเมษายน 64 พบว่า ยอดการส่งออกเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 13.09 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากรวมทองคำและน้ำมันรวมถึงยุทธปัจจัยต่างๆตัวเลขส่งออกของไทยบวกถึงร้อยละ 25.70 ดังนั้น การส่งออกเดือนเมษายนดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากหักทองคำ น้ำมันและยุทธปัจจัยออกด้วยกัน ซึ่งเมื่อดูทิศทางส่งออกในหลายประเทศทั่วโลกการส่งออกฟื้นตัวและกลับมาเป็นบวกขึ้นด้วยเช่นกันและเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจการค้าโลกที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ หลังจากประเทศต่างๆเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลทำให้ภาคการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังในหลายประเทศเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการขยายตัวได้ดีสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ยุโรปและอีกหลายประเทศด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าสินค้าในเดือนเมษายน 64 อยู่ที่ 21,246.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นบวกร้อยละ 29.79 โดยไทยยังได้ดุลการค้าในเดือนเมษายน 64 อยู่ที่ 182.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหากดูตัวเลขการส่งออกและนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกปี 64 ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 64 โดยเป็นยอดส่งออกทั้งสิ้น 85,579.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึงร้อยละ 4.78 ขณะที่การนำเข้ามียอดอยู่ที่ 84,879.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นบวกร้อยละ 13.86 ทำให้ไทยเกินดุลการค้าช่วง 4 เดือนอยู่ที่ 698 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดียังคงเป็นสินค้าในกลุ่มอาหาร สดและเกษตรของไทยหลายตัวยังมีความต้องการของตลาดโลกสูงขึ้น รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ถุงมือยางที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นส่งผลดีกับราคายางพาราของไทยในช่วงนี้ดีขึ้นด้วย รวมถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยเริ่มส่งออกได้มากขึ้น และแม้ว่าทั้งโลกรวมถึงไทยเจอปัญหาโควิด-19 กลับมาระบาดใหม่ก็ตาม
นอกจากนี้ สนค. คาดว่าการส่งออกไทยในเดือนถัดไปยังคงเป็นบวกอยู่แต่จะบวกเพิ่มขึ้นเป็น 2 หลักเช่นเคย แต่คงต้องติดตามหลังจากการระบาดโควิดทั่วโลกกลับมาระบาดอีกระลอกหนึ่งว่าจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกแค่ไหน แต่ก็เชื่อกันว่าหลังจากทั่วโลกมีการฉีดป้องกันโควิดกันได้มากขึ้นน่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ แม้ว่าในช่วงนี้การส่งออกจะได้รับผลกระทบด้านการขนส่งขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าแต่เวลานี้ปัญหาดังกล่าวเริ่มคลี่คลาย รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ผันผวนมาก
ทั้งนี้ ขณะที่ไทยแม้จะเกิดการระบาดโควิดระลอก 3 พบผู้ติดเชื้อแต่ละวันสูงต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปมากนัก โดยกระทรวงพาณิชย์และเอกชนมีการติดตามและประชุมตามกรอบต่างๆเพื่อติดตามปัญหาภาคการส่งออกในแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด ซึ่ง สนค.ยังคงมองว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 64 ยังจะบวกได้ร้อยละ 4 หรือคิดเป็นมูลค่า 240,727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยต่อเดือนส่งออกเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขนี้จะมีการปรับเป้าหมายการส่งออกกันหรือไม่โดยในเร็วๆนี่จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆเพื่อประเมินทบทวนตัวเลขส่งออกทั้งปีกันอีกครั้ง และมีโอกาสที่ตัวเลขส่งออกอาจจะเป็นบวกมากกว่าร้อยละ 4 ก็เป็นได้ ซึ่งเฉลี่ยต่อเดือนหลังจากนี้ต้องส่งออกเฉลี่ยนเดือนละ 19,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากบวกร้อยละ 6 ต่อเดือนต้องส่งออกอยู่ที่ 20,134 ล้านดอลลาร์สหรัฐและหากบวกร้อยละ 7 ส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนต้องอยู่ที่ 20,391 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นต้น . – สำนักข่าวไทย