กรุงเทพฯ 20 พ.ค.-กระทรวงคมนาคม เปิดตัวเลข “คนด่านหน้า” คมนาคม-ขนส่งทั่วไทย “บก-น้ำ-ราง-อากาศ” กว่า 3.22 แสนคน “ศักดิ์สยาม” เตรียมควง “อนุทิน” ลงพื้นที่สถานีกลางบางซื่อพรุ่งนี้ (21 พ.ค. 64) ตรวจความพร้อมจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ดีเดย์ทยอยฉีดบางส่วนตามยอดลงทะเบียน 24-31 พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (21 พ.ค. 2564) เวลา 08.30 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาลที่สถานีกลางบางซื่อ ร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการบริหารศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ คณะกรรมการดำเนินงานฯ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ด้วย
สำหรับในการลงพื้นที่ดังกล่าว จะมีการตรวจความพร้อมพื้นที่ ทั้งบริเวณจุดชั่งน้ำหนัก วัดความดัน จุดลงทะเบียน เซ็นใบยินยอม จุดฉีดวัคซีน จุดพักรอสังเกตอาการ 30 นาที ทั้งนี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาลที่สถานีกลางบางซื่อนั้น เป็นไปตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ในการเร่งฉีดวัคซีนแก่พนักงานที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในระบบคมนาคมขนส่งทั้งหมด ครอบคลุมทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ เนื่องจากเป็นบุคลากรกลุ่มเสี่ยง และมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และอาจจะแพร่ระบาดไปสู่ผู้ใช้บริการอื่นได้
โดยนายศักดิ์สยาม จึงได้นำเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดสรรวัคซีนโควิด-19 เพื่อนำมาฉีดให้กับพนักงานด่านหน้าในระบบการคมนาคมขนส่ง พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ให้บริการการขนส่ง จัดรายชื่อพนักงานด่านหน้าฯ และจำนวน ที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีน ก่อนจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24-31 พ.ค. 2564 ที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อลดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดการแพร่ระบาด และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการระบบคมนาคมขนส่ง
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุอีกว่า จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า มีพนักงานด่านหน้าภาคการขนส่ง ทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศของแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระยะเร่งด่วน (กลุ่มเสี่ยงสูง) ประมาณ 322,855 คน โดยมีทั้งฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ ในวันที่ 24-31 พ.ค. 2564 รวมถึงหน่วยงานนั้นๆ ได้ประสาน สธ. เพื่อไปดำเนินการฉีดแล้ว อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นของจำนวนตัวเลขนั้น อาจมีบางคนไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีนรวมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รวบรวมรายชื่อเจ้าหน้าที่ ที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ระยะเร่งด่วน ซึ่งประสงค์จะฉีดวัคซีน ในส่วนกลางกรุงเทพมหานคร และสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 ทั้งหมด จำนวน 1,200 คน ได้แก่ 1.ฝ่ายทะเบียน 589 คน 2.ฝ่ายตรวจภาพ 103 คน 3.ฝ่ายใบอนุญาตขับรถ 115 คน 4.กองตรวจการขนส่งทางบก 122 คน และเจ้าที่ด้านงานบริหารและวิชาการ ซึ่งดูแลประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนที่เข้ามาติดต่อที่สำนักงาน 271 คน
ขณะที่ในส่วนภูมิภาค รวม 3,568 คน ได้แก่ 1.ฝ่ายทะเบียน 982 คน 2.ฝ่ายตรวจภาพ 497 คน 3.ฝ่ายใบอนุญาตขับรถ 636 คน 4.ฝ่ายตรวจการ 81 คน 5.เจ้าหน้าที่ด้านงานบริหารและวิชาการ ซึ่งดูแลประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนที่เข้ามาติดต่อที่สำนักงาน 1,365 คน นอกจากนี้ เมื่อดูข้อมูลของกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน ขบ. ถึงจำนวนใบอนุญาตขับรถ และใบอนุญาตผู้ประจำรถ จำแนกตามประเภทใบอนุญาต (ณ วันที่ 30 เม.ย. 2564) จากทั่วประเทศ รวม 280,972 คนแบ่งเป็น ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ จำนวน 101,231 คน, ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ จำนวน 7,589 คน และใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ จำนวน 172,152 คน
ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 12,000 คน ซึ่งจะเป็นพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานประจำท่าปล่อยรถ ส่วนพนักงานของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ในเบื้องต้นมีพนักงานและผู้ประกอบการรถร่วมฯ แจ้งความประสงค์ขอรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วประมาณ 2,800 คน ขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีพนักงานด่านหน้าฯ จำนวนประมาณ 1,100 คน ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานเก็บค่าผ่านทาง และส่วนอื่นๆ ด้วย
ในส่วนของกรมทางหลวง (ทล.) ได้รวบรวมรายชื่อพนักงาน ที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ระยะเร่งด่วน จำนวน 1,002 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าว เป็นยอดรวมทั้งหมด แต่อาจมีบางคนไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีน ได้แก่ 1.ฝ่ายจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 775 ราย ประกอบด้วย ผู้จัดการด่าน 16 ราย, รองผู้จัดการด่าน 96 ราย, พนักงานจัดเก็บ 582 ราย, พนักงานควบคุมบัตร 81 ราย 2.หน่วยกู้ภัย จำนวน 145 ราย ประกอบด้วย นักปฏิบัติการกู้ภัย 5 ราย, พนักงานกู้ภัย 140 ราย และ 3.กลุ่มตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ จำนวน 82 ราย
นอกจากนี้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้เสนอรายชื่อพนักงาน ที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว เป็นบุคลากรส่วนกลางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 1,600 คน โดยจะเป็นกลุ่มบุคคลเสี่ยงสูง เนื่องจากมีการสัมผัสกับประชาชนเป็นจำนวนมาก เช่น เจ้าหน้าที่บริเวณด่านชั่งน้ำหนัก, เจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์, เจ้าหน้าที่เดินเอกสาร, พนักงานขับรถ รวมถึงพนักงาน ทช. ที่เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่โดยรถขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุต่ออีกว่า ด้านระบบรถไฟฟ้าของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีกลุ่มเสี่ยงสูง จำนวนประมาณ 1,000 คน โดยในจำนวนดังกล่าว จะรวมพนักงานของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่ปฏิบัติงานในสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงด้วย ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 5,683 คน ประกอบด้วย พนักงานประจำขบวนรถ พนักงานประจำสถานี คนขับรถไฟ และตำรวจรถไฟ ในส่วนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ จำนวน 700 คน
นอกจากนี้ ภาคการขนส่งทางน้ำนั้น กรมเจ้าท่า (จท.) ที่ดูแลกำกับเรือโดยสาร ได้รายงานว่า มีจำนวนกลุ่มเสี่ยงสูงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมประมาณ 2,312 คน แบ่งเป็น ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าส่วนกลาง จำนวน 1,200 คน ขณะที่ พนักงานเรือคลองแสนแสบ จำนวน 203 คน, พนักงานเรือด่วนเจ้าพระยา จำนวน 184 คน, พนักงานท่าเรือข้ามฟาก จำนวน 143 คนและนักเรียนศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี จำนวน 582 คน
ในส่วนของการขนส่งทางอากาศนั้น กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีพนักงานที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 654 คน โดยส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจอาวุธ เจ้าหน้าที่คัดกรองผู้โดยสาร และประชาสัมพันธ์ ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า จำนวน มีพนักงานของ ทอท. และลูกจ้าง ทอท. ที่เป็นด่านหน้าฯ รวมทั้ง 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ในการกำกับดูแล และสำนักงานใหญ่ รวม 8,264 คน แบ่งเป็น พนักงาน 6,250 คน และลูกจ้าง 2,014 คน ทั้งนี้ เมื่อแยกแต่ละท่าอากาศยานนั้น ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวม 3,421 คน แบ่งเป็น พนักงาน 2,451 คน ลูกจ้าง 970 คน, ท่าอากาศยานดอนเมือง รวม 1,496 คน แบ่งเป็น พนักงาน 1,088 คน ลูกจ้าง 408 คน
ขณะที่ ท่าอากาศยานภูเก็ต รวม 973 คน แบ่งเป็น พนักงาน 651 คน ลูกจ้าง 322 คน, ท่าอากาศยานเชียงใหม่ รวม 463 คน แบ่งเป็น พนักงาน 310 คน ลูกจ้าง 153 คน, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย รวม 245 คน แบ่งเป็น พนักงาน 174 คน ลูกจ้าง 71 คน, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวม 316 คน แบ่งเป็น พนักงาน 266 คน ลูกจ้าง 90 คน และสำนักงานใหญ่ ทอท. รวม 1,359 คน แบ่งเป็น พนักงาน 1,340 คน ลูกจ้าง 19 คน ทั้งนี้ พนักงานและลูกจ้างของ ทอท. ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัย, ฝ่ายดับเพลิงและกู้ภัย, ฝ่ายบริการท่าอากาศยาน, ฝ่ายปฏิบัติการเขตการบิน, ฝ่ายวิศวะและบำรุงรักษา, ฝ่ายมาตรฐานท่าอากาศยายและชีวอนามัย, ฝ่ายบริหารการขนส่งสาธารณะ, ฝ่ายบริหารการขนส่งสินค้าทางอากาศ และฝ่ายไฟฟ้าและเครื่องกล.-สำนักข่าวไทย