กรุงเทพฯ 20 พ.ค. – IRPC วางเป้าเพิ่มสัดส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) สูงถึง 30% ภายในปี 2567 รุกผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เม็ดพลาสติกรองรับอีวี
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงกระแสโลก ซึ่งถือเป็น Global Megatrends ที่จะมาเปลี่ยนแปลงสังคมและความเป็นอยู่ของประชาคมโลก โดยเฉพาะหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เทรนด์ที่คนทั่วโลกต่างกำลังให้ความสนใจ เช่นเรื่องของสุขภาพ การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สินค้ารองรับสังคมผู้สูงวัย
แผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ IRPC จะเน้นการสร้างและพัฒนานวัตกรรมวัสดุและพลังงานแห่งอนาคต วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (specialty)จาก17%ในปัจจุบันเป็น 30% ภายในปี 2567 ด้วยกลยุทธ์ในการใกล้ชิดเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น (Human centric) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โดยเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ
โดย IRPCดำเนินการหลายรูปแบบ มีการร่วมทุนกับบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100%) จัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด ขับเคลื่อนธุรกิจการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown มีลักษณะเส้นใยขนาดเล็กและละเอียดในระดับนาโนเมตรถึงไมโครเมตร มีคุณสมบัติในการกรองที่มีประสิทธิภาพสูง ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีนชนิดพิเศษ (PP melt blown grade) ที่ IRPC ได้วิจัยและพัฒนาเป็นบริษัทแรกของประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ไตรมาส 4 ปี 2564
นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ให้ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้น เช่น ถุงอาหาร ถุงเลือด และถุงล้างไตสำหรับผู้ป่วย ที่ผลิตจากเม็ด PP และผลิตภัณฑ์ NBL หรือ Nitrile Butadiene Latex ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตถุงมือแพทย์ ร่วมกับองค์กร ทั้งเอกชนและภาครัฐ สอดรับกับเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว
IRPC อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารถยนต์ EV เช่น Battery Separator และ Li-Ion Electrode นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mytex Polymers (Thailand) Co. Ltd) รุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound: PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการผลิตและอยู่ในระหว่างการทดสอบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV เป็นปัจจัยบวกสำหรับผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมี เพราะมีทิศทางความต้องการใช้พลาสติกเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตของรถยนต์ EV ในสัดส่วนต่อคันที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50
สำหรับทิศทางในไตรมาส2/64ยังคาดว่ามาร์จิ้นในส่วนปิโตรเคมีจะดีขึ้นกว่าไตรมาส1/64จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลจากการควบคุมการระบาดโควิ-19 การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นแต่กำไรสตอกกน้ำมันคงไม่เพิ่มขึ้นมากเหมือนกับไตรมาส1/64เพราะราคาน้ำมันไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก ในขณะที่ไตรมาส3และ4ปีนี้ก็ต้องจับตา โรงงานปิโตรเคมีแห่งใหม่ในต่างประเทศที่เริ่มผลิตส่งผลกำลังผลิตโลกพุ่งขึ้นแต่ก็คาดความต้องการจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ของโลกขาดแคลนได้คลี่คลายขึ้นก็มั่นใจภาพรวมผลดำเนินการช่วงที่เหลือแของปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว.- สำนักข่าวไทย