6 พ.ค.-คลังเตือน ระวังข้อมูลหลอกลวง การส่ง SMS หรือข้อมูลที่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ฉวยโอกาสหลอกลวง ช่วงออกมาตรการเยียวยาโควิด-19
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบในหลักการมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ในระลอกใหม่ เดือนเมษายน 2564 และมอบหมายให้ กระทรวงการคลัง เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564
โฆษกกระทรวงการคลังขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังข่าวปลอมในลักษณะของข้อความสั้น (SMS) หรือข้อมูลที่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ที่อาจมีการฉวยโอกาสหลอกลวง โดยขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการฯ จากช่องทางการสื่อสารจากทางราชการ ได้แก่ www.เราชนะ.com www.mof.go.th www.fpo.go.th และ Facebook Fanpage “สถานีข่าวกระทรวงการคลัง” และ “สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง: Fiscal Policy Office”
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 กระทรวงการคลังได้ระงับสิทธิชั่วคราวของผู้ประกอบการ ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ของโครงการฯ เช่น การแลกวงเงินสิทธิ์เป็นเงินสด เพิ่มเติม จำนวน 2,744 ราย โดยผู้ประกอบการดังกล่าวประสงค์จะชี้แจงโต้แย้งสามารถดาวน์โหลดเอกสาร “แบบฟอร์มเพื่อชี้แจงโต้แย้ง” ได้ที่เว็บไซต์ www.เราชนะ.com และจัดส่งเอกสารดังกล่าวผ่านทางไปรษณีย์มายังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือทาง e-Mail: wewin@fpo.go.th ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564
หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลังจะดำเนินการเอาผิด ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการฯ ทำให้ผู้ประกอบการอาจเสียสิทธิในการเข้าร่วมโครงการฯ และถูกตรวจสอบขยายผลสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงขอความร่วมมือประชาชน รักษาสิทธิ์ของตนเอง ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการทำตามหลักเกณฑ์อยากถูกต้อง
โฆษกกระทรวงการคลังได้แถลงเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของโครงการฯ ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ดังนี้ 1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 73,742 ล้านบาท 2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 16.8 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 115,246 ล้านบาท และ 3) ประชาชน กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.4 ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 15,243 ล้านบาท ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ แล้ว รวมทั้งสิ้นจำนวน 32.9 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 204,231 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ ที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์แล้ว จำนวน 24.9 ล้านคน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ.-สำนักข่าวไทย