กรุงเทพฯ 6 พ.ค.-ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลดัชนีผู้บริโภคเดือน เม.ย.ลดลงต่ำสุดเป็นประวัคิการณ์หลังโควิด-19 ระลอก3 ระบาดหนักทำให้คนลดใช้จ่ายทุกรายการ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2564 จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 271 เดือนหรือ 22 ปี 7 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในรอบที่ 3 ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่มาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 40.3 42.9 และ 54.7 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมีนาคม ที่อยู่ในระดับ 42.5 45.3 และ 57.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 รอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด
การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 48.5 เป็น 46.0 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 271 เดือนหรือ 22 ปี 7 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา
สำหรับการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 32.9 มาอยู่ที่ 31.2 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 264 เดือนหรือ 22 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2542 เป็นต้นมา แสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 55.8 มาอยู่ที่ระดับ 52.9 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 271 เดือนหรือ 22 ปี 7 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลกว่าจะส่งผละกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการแพร่กระจายของโควิดรอบใหม่ว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน รุนแรงเพียงใด และรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมถึงจะมีการ Lockdown ในจังหวัดต่างๆ มากน้อยเพียงใด จะคลี่คลายลงเมื่อไร และจะมีการฉีดวัคซีนได้รวดเร็วแค่ไหน จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวร้อยละ 0.0-1.5ได้.-สำนักข่าวไทย