กทม. 1 พ.ค.-สปป ลาว เปิดนำเข้าซีฟู้ดจากประเทศโควิด-19 ระบาดวันแรก ด้าน “จุรินทร์” มั่นใจยอดส่งออกพุ่งแตะ 200 ล้าน พร้อมเร่งช่วยเหลือผู้ส่งออกเครื่องดื่ม หลังเมียนมาเตรียมปิดด่านทางบก 7 พ.ค.นี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ สปป. มีคำสั่งยกเลิกประกาศการนำเข้าอาหารทะเลสด และแช่แข็ง จากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้ตั้งแต่วันนี้ (1 พ.ค.) เป็นต้นไป ไทยและประเทศอื่น ๆ สามารถส่งอาหารทะเลไปยัง สปป.ลาวได้ ว่า สปป.ลาว ได้เปิดการนำเข้าตามปกติตั้งแต่วันนี้ ซึ่งสินค้าที่จะนำเข้าได้ มีทั้งอาหารทะเลสด และแช่แข็ง แต่จะต้องมีเอกสารกำกับการส่งออก และใบรับรองสุขอนามัย ซึ่งกรมประมงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ช่วยผู้ประกอบการออกเอกสารรับรองการปลอดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ด้วย และตามปกติประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลไปยัง สปป.ลาว ประมาณปีละ 70 ล้านบาท แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็คาดว่า ยอดการส่งออกจะเพิ่ม 2-3 เท่า แตะ 200 ล้านบาทได้ในปี 2564 นี้ แต่มั่นใจว่า การส่งออกดังกล่าว จะไม่กระทบต่อราคาบริโภคภายในประเทศ
ส่วนกรณีที่เมียนมายังคงมาตรการห้ามการนำเข้าเครื่องดื่มทุกประเทศจากชายแดนทางบก ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไปโดยยังไม่มีกำหนดนั้น นายจุรินทร์ ระบุว่า ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ เชิญภาคเอกชนมาหารือร่วมกันแล้ว โดยได้ข้อสรุปว่า ภาคเอกชนจะเร่งขนส่งเครื่องดื่มเข้าเมียนมาให้ได้มากที่สุด และจะหารือกับสมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือเพิ่มเติม เพื่อใช้เส้นทางเรือ ทดแทนการขนส่งทางบก โดยจะให้สมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือ ช่วยดูเที่ยวเรือ และพิจารณาราคาที่ไม่เพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ และประสานทูตพาณิชย์ที่เมียนมา ให้ช่วยประสานท่าเรือเมียนมา ให้รับสินค้าไทยได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคการส่งออก พร้อม ยังหาวิธีการขนส่งเพิ่มเติม ทั้งการขนส่งทางอากาศ และการหาตลาดทดแทน เพราะในแต่ละปีการส่งออกเครื่องดื่มไปยังเมียนมา มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งการหาตลาดทดแทน ทั้งประเทศอื่น ๆ หรือตลาดใหม่ โดยทำการค้าในรูปแบบออนไลน์ เพื่อทดแทนเมียนมาต่อไป
นายจุรินทร์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ในพื้นที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุง เกิดปัญหาราคาพริกเขียวดวงมณีราคาตก เนื่องจาก ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของการส่งออก แต่ความต้องการบริโภคขณะนี้ลดลง ทำให้ราคาตกจาก 17-20 บาท เหลือ 8 บาท ทำให้กระทรวงพาณิชย์ ประสานไปยังจังหวัด และ ส.ส.ในพื้นที่ เพื่อหารือออกมาตรการด้วยการช่วยหาผู้ซื้อในประเทศ ทั้งผู้ประกอบการ ผู้แปรรูป ผู้ส่งออกต่าง ๆ ให้ช่วยรับซื้อในราคาละ 10 บาท และกระทรงวพาณิชย์ จะช่วยอุดหนุนเกษตรกรอีกกิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งทุกฝ่ายพอใจ โดยตั้งเป้าว่าจะช่วยเบื้องต้น 3,000 ตัน ระยะเวลา 3 เดือน โดยคาดว่า สถานการณ์จะคลี่คลายได้.-สำนักข่าวไทย