กรุงเทพฯ 11 เม.ย. – กฟผ.-ปตท.เตรียมพร้อมร่วมทุนนำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้าภาคใต้ นอกเหนือจากร่วมทุนโครงการคลังหนองแฟบ ด้านกลุ่มทีพีไอ มั่นใจนิคมฯ จะนะ แจ้งเกิดได้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ความร่วมมือของ บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการจับมือกันทำงานเพื่อส่งเสริมความมั่นคงพลังงาน รองรับนวัตกรรมใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งในขณะนี้กำลังศึกษาความร่วมมือนำเข้าในภาคใต้ นอกเหนือจากความร่วมมือที่ให้ กฟผ. ร่วมลงทุนกับ ปตท. สัดส่วน 50 : 50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ.ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า กฟผ. และ ปตท. มีแผนจะร่วมมือกันลงทุนในโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แบบลอยน้ำ (FSRU) ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ขนาด 5 ล้านตัน/ปี กำหนดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของโรงไฟฟ้าขนอม และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1)
โดยโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตรวม 1,400 MW อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยังต้องรอผลแนวทางบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศไทย ที่มีนายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะทำงานพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมและพิจารณาข้อมูลต่างๆ คาดว่าจะนำเสนอกระทรวงพลังงาน พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สนับสนุนให้เอกชนลงทุน โดยมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ LNG กำลังผลิต 1,700 เมกะวัตต์นั้น ปัจจุบันโครงการนี้ไม่ได้บรรจุไว้ในแผน PDP 2018 Revision 1 ดังนั้น ในอนาคตหากโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ ก็ต้องมาพิจารณาว่า ภาพรวมการลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ และการนำเข้า LNG ต้องปรับรูปแบบอย่างไร ในขณะที้โครงการนี้ได้รับการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าแผนลงทุน เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
ปัจจุบัน TPIPP ได้รับการติดต่อจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่แสดงเจตจำนงสนใจร่วมลงทุน เช่น ศูนย์พลังงานสะอาด ซึ่งบริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท Korea Gas Corporation และบริษัท Korea Western Power จากรัฐบาลเกาหลี บริษัท Norinco International Cooperation Limited และบริษัท China Datang Overseas Investment Company Limited จากรัฐบาลจีน
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก แคนาดา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เดนมาร์ก และสเปน เป็นต้น ที่สนใจร่วมลงทุน
ส่วนโครงการท่าเรือน้ำลึกและศูนย์กระจายสินค้า โดยบริษัทฯ ได้ลงนาม MOU กับบริษัท CRCC Malaysia BHD จากรัฐบาลจีน และได้รับการติดต่อแสดงความสนใจจากบริษัทเอกชนชั้นนำหลายประเทศ อาทิ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์, โครงการ Smart City มีบริษัทที่แสดงความสนใจในตัวโครงการจากหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง เป็นต้น คาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 100,000-300,000 ตำแหน่ง. – สำนักข่าวไทย