กรุงเทพฯ 12 มี.ค. – ปี 2563 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายงานผลการดำเนินงาน โดยมีกำไรลดลง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากผลการแพร่ระบาดของ COVID-19 และราคาน้ำมันที่ลดลงแรง อย่างไรก็ดี บจ. ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสสองที่ผ่านมา จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บจ. จำนวน 718 บริษัท คิดเป็น 96.2% จากทั้งหมด 746 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บจ. ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC) นำส่งผลการดำเนินงานปี 2563 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563 พบว่ามี บจ. รายงานกำไรสุทธิ 509 บริษัท คิดเป็น 70.9% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด
ในปี 2563 บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลการดำเนินงานปรับลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายรวม 10,675,905 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (core profit) 736,614 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 420,836 ล้านบาท โดยหมวดธุรกิจที่มียอดขายลดลงสูงสุด คือ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธุรกิจที่มีกำไรสุทธิลดลงสูงสุด คือ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์จากการขาดทุนของ บจ. ขนาดใหญ่ สำหรับหมวดธุรกิจที่ปรับดีขึ้น คือ ธุรกิจเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ ด้านความสามารถการทำกำไร บจ. มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 20.56% เป็น 21.10% แต่มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานหลักลดลงจาก 7.31% เป็น 6.90% และมีอัตรากำไรสุทธิลดลงจาก 7.17% เป็น 3.94%
หากไม่รวมหมวดธุรกิจด้านพลังงานฯ และผลขาดทุนของ บจ. ดังกล่าว จะพบว่าภาพรวมในปี 2563 บจ. มียอดขายลดลงในอัตราใกล้เคียงกับเศรษฐกิจของประเทศ และมีกำไรลดลงในอัตราที่ไม่สูงมาก สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2563 ดีขึ้นจากไตรมาส 3 ต่อเนื่อง ทั้งยอดขาย กำไรจากการดำเนินงานหลัก และกำไรสุทธิ
สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ สิ้นปี 2563 บจ. ไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ปรับสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 1.35 เท่า มาอยู่ที่ 1.58 เท่า
“การระบาดของไวรัสทำให้ความต้องการอุปโภคบริโคลดลง การท่องเที่ยวและการโรงแรมได้รับผลกระทบหนัก ทำให้ บจ. มีผลการดำเนินงานลดลงเกือบทุกหมวดธุรกิจ แต่รูปแบบการใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ (new normal) ที่ปรับมาสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ความต้องการด้านสุขอนามัยสูงขึ้น มีส่วนทำให้หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และธุรกิจด้านดิจิทัล (digital platform) เติบโตได้ดี เช่นกัน ขณะที่การผ่อนคลายการควบคุมโรคระบาดลงในครึ่งหลังของปี ทำให้ผลการดำเนินงานของ บจ. ดีขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/2563 ทุกรายการ” นายแมนพงศ์ กล่าว
ด้านผลการดำเนินงานของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ของปี 2563 มียอดขายรวม 166,884 ล้านบาท ลดลง 7.2% มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก 6,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% และมีกำไรสุทธิ 3,371 ล้านบาท ลดลง 63.0% จากปีก่อน .-สำนักข่าวไทย