กรุงเทพฯ 26 ก.พ.-เลขาธิการสภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นการท่องเที่ยว-บริการ ย้ำปีนี้ไทยยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก เสนอรัฐออกมาตรการรักษาการจ้างงาน ลดผลกระทบรายได้ครัวเรือน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 ถือว่าประสบภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง และมีความเชื่อมโยงไปทั่วโลก โดยภาพรวมปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวที่ร้อยละ 6.1 แต่ถือว่าน้อยกว่าที่หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้ ขณะที่ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างช้าๆ โดยไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยหลายตัวเริ่มปรับดีขึ้น ทั้ง การบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน ยกเว้นภาคบริการ และการท่องเที่ยวเนื่องจากยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา
ส่วนผลกระทบของโควิดกับเศรษฐกิจไทยจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 ไม่ได้เหนือกว่าที่คาดการณ์ไว้ การระบาดรอบแรกไทยใช้เวลา 51 วัน ในการควบคุม ส่วนระลอกนี้ผ่านมาหกสิบกว่าวัน ขณะที่วัคซีนที่มาถึงประเทศไทยแล้ว จะช่วยให้การจัดการด้านสาธารณสุขดีขึ้น ขณะเดียวกัน มาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมามีความผ่อนคลายมากกว่ารอบแรก ยังมีการเดินทาง จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถขับเคลื่อนได้ แต่สิ่งที่ยังกังวล คือ อัตราการว่างงาน เพราะแม้อัตราการว่างงานจะดีขึ้น แต่ตัวเลขก็ยังสูงอยู่ และพบว่าชั่วโมงการทำงานลดลง ซึ่งหมายความว่ารายได้ของแรงงานก็ลดลงตามไปด้วย ดังนั้นรัฐบาล จำเป็นต้องออกมาตรการรักษาการจ้างงานไว้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้ครัวเรือน
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 จากการกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ทำให้สศช.ต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเติบโตเหลือร้อยละ 2.5-3.5 จากที่เคยคาดไว้จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5-4.5 อย่างไรก็ตามต้องดูว่าการกระจายวัคซีนโควิด จะเป็นไปตามแผนหรือไม่ โดยไม่ควรกระจายให้เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่มเปราะบางก่อนเท่านั้น แต่ควรกระจายไปในภาคบริการและแรงงานด้วย
สำหรับปัจจัยที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการส่งออกต้องพยายามขับเคลื่อนให้มากขึ้น การลงทุนภาครัฐก็มีความสำคัญมาก ต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งกระตุ้นการใช้จ่าย เช่นมาตรการของรัฐต่าง ๆ ทั้ง โครงการคนละครึ่ง, เราชนะและเรารักกัน นอกจากนี้ การควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ประสิทธิภาพในการกระจายวัคซีน การกลับมาของนักท่องเที่ยว จะทำได้เร็วเพียงใด ซึ่งจากนี้ไปจะมุ่งไปที่นักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง เช่น กลุ่มที่เข้ามาวิลล่า จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ดึงเข้ามา นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งอาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้-สำนักข่าวไทย