นนทบุรี 9 ก.พ. – ผู้อำนวยการสถาบัน GIT เตือนประชาชนระวัง “ทองคำเปลว” หลังพบ “ทองคำเปลววิทยาศาสตร์” เป็นส่วนผสมอาหาร ย้ำกินไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GITเปิดเผยว่า ในยุคนี้ไม่มีอะไรเกินความสามารถของมนุษย์ ซึ่งสามารถสร้างสรรค์สิ่งทดแทนขึ้นมาได้ เพื่อลดต้นทุน และสามารถค้าขายได้ในราคาย่อมเยา ไม่ว่าจะเป็นอัญมณีชนิดต่างๆ ทองคำ รวมถึงทองคำเปลว ซึ่งทองคำเปลว ที่เป็นของแท้ ผลิตด้วยช่างฝีมือตีจนทองคำที่มีค่าความบริสุทธิ์ 95.00 – 99.99 % จนเป็นแผ่นบาง ๆ ปัจจุบันทำได้ยาก และมีต้นทุนในการผลิตที่สูง ในทางกลับกันการผลิต “ทองคำเปลววิทยาศาสตร์” จะไม่ได้มีการใช้ทองคำมาตีให้เป็นแผ่นบาง แต่จะเป็นการใช้สารประกอบจำพวกไฮโดรคาร์บอนและธาตุโลหะหนักอื่น ๆ มาแต่งสี และลักษณะให้มีความคล้ายคลึงกับทองคำเปลวแท้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การใช้ทองคำเปลววิทยาศาสตร์ หากนำไปใช้เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ ประโยชน์อื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หากนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร หรือ อุตสาหกรรมความงาม อาจทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากว่า ทองคำบริสุทธิ์ (AU) สามารถรับประทานได้ ร่างกายไม่ดูดซึม ไม่ย่อย และ ขับถ่ายออกมาตามปกติ แต่หากเป็น ทองคำวิทยาเปลววิทยาศาสตร์ อาจจะส่งผลต่อร่างกายได้ เพราะมีโลหะหนักผสมอยู่ และอาจจะสะสมและเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ได้ ทำให้เกิดโรคพิษโลหะหนักตามมาหากได้รับในปริมาณที่มากและสะสมมาเป็นระยะเวลานาน
ทั้งนี้ สถาบัน GIT ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ดูแลโดยตรงด้านอาหาร แต่เนื่องจากทองคำเปลว เป็นโลหะมีค่าชนิดหนึ่ง สถาบันจึงได้ออกมาเตือนเพื่อให้ผู้บริโภคฉุกคิดก่อนที่จะบริโภคเข้าไป และหากมีความจำเป็นจะต้องรับประทาน หรือนำไปใช้กับร่างกายโดยตรง สามารถนำทองคำเปลว หรือทองคำนั้น มาตรวจสอบกับสถาบันได้ โดยเรามีเทคนิคในการตรวจสอบที่เรียกว่า XRF และ ICP-OES ที่จะสามารถหาผลทดสอบได้ว่าทองคำเปลวนั้นประกอบด้วยธาตุใดบ้าง ซึ่งผู้บริโภค หรือผู้ผลิตจะได้มีความมั่นใจ และสามารถนำไปประกอบเป็นสารสำคัญในสินค้าของตนเองได้ต่อไป นอกจากนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของสถาบันได้ เพียงดาวน์โหลด Application CARAT แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาจาก GIT โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่า โทร 02 634 4999 ต่อ 421 – 425 ได้ . – สำนักข่าวไทย