กรุงเทพฯ 11 ม.ค. – FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า ลดลง 19.1% อยู่ในโซนร้อนแรง นักลงทุน หวังการไหลเข้าของเงินทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ แต่กังวลกับการท่องเที่ยว สถานการณ์ความขัดแย้งระห่วางประเทศ และการระบาดของโควิด-19ระลอกใหม่
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนธันวาคม 2563 พบว่า ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 130.63 ปรับตัวลดลง 19.1% จากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” มาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนเมื่อเทียบกับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลอดทั้งปี นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การท่องเที่ยว รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่
ด้านความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
ส่วนผลสำรวจ รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 21% อยู่ที่ระดับ 117.95 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 23% อยู่ที่ระดับ 128.57 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลง 24% อยู่ที่ระดับ 119.05 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลง 14% อยู่ที่ระดับ 150.00
ด้านนักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การท่องเที่ยว รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่
นักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดธนาคาร (BANK) มากที่สุด รองลงมาคือหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือหมวดแฟชั่น (FASHION) และหมวดสื่อสิ่งพิมพ์ (MEDIA)
ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถผ่านสภาเป็นไปได้ง่าย มาตรการปิดเมืองในหลายพื้นที่ในยุโรปและเอเชีย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงอีกครั้ง ส่วนของปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ของ Covid-19 ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว . – สำนักข่าวไทย