กรุงเทพฯ 17 ธ.ค.-สำรองไฟฟ้าสูง ก.พลังงานเร่งแก้ปัญหา พร้อมวางแผนรัดกุม ป้องกันไฟฟ้าไม่เพียงพอในอนาคต ทำแผนคาดจีดีพี3 ระดับ พร้อมรองรับความเสี่ยงการผลิตจากพลังงานทดแทนที่สูงขึ้น ตั้งโจทย์หลัก “ค่าไฟฟ้าไม่แพง”
นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะทำงานพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ก.พลังงาน เปิดเผยว่า โจทย์ของประเทศคือ ต้นทุนค่าไฟฟ้า ทำภายใต้แผนพลังงานชาติฉบับใหม่จะทำอย่างไรให้มั่นคงและต้นทุนไม่แพง เพราะเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันของประเทศและค่าครองชีพของทุกคน ซึ่งในขณะนี้แม้สำรองไฟฟ้าจะสูงราว ร้อยละ 40-50 จากข้อกำหนดปกติอยู่ที่ร้อยละ 15 หลายฝ่ายมองว่าเป็นภาระทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูง แต่ โรงไฟฟ้าที่เป็นกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย(Spinning Reserve) เหลือร้อยละ 5 เป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่หรือสามารถสั่งเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบมีความต้องการ ในส่วนนี้นับเป็นความเสี่ยงหรือไม่ จึงให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลว่า สำรองที่แท้จริงจำเป็นต่อความมั่นคงต้องเป็นเท่าใดกันแน่ เพราะต้องรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนของภาคเอกชน หรือไอพีเอส หากยิ่งมากต้องมีสำรองสูงเช่นเดียวกับยุโรป ในส่วนนี้ใครควรแบกรับต้นทุน
นอกจากนี้ ให้ทุกฝ่ายไปพิจารณาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังนับจากนี้จะเป็นอย่างไร จะฟื้นเร็วหรือไม่ โดยทำหลายสมมุติฐานทั้งกรณีฟื้นเร็ว ปานกลาง หรือยังย่ำแย่ต่อไป วัคซีนโควิด-19 ที่ทั่วโลกทยอยออกมาจะมีผลอย่างไร รวมทั้งให้พิจารณาถึง ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ที่ตามแผนงานส่งเสริมการผลิตอีวีของประเทศในอนาคต จะมีราวกว่า 2 ล้านคัน และระบบรางต่างๆรถไฟฟ้าที่มีเป็นจำนวนมาก ทำให้ความต้องใช้ไฟฟ้าจะปรับรูปแบบอย่างไร ซึ่งในกรณี โรงไฟฟ้าเก่าที่ยังไม่หมดสัญญาซื้อขายเป็น Standby Reserve กรณีหากปลดระวางเร็วจะเกิดการฟ้องร้องกับภาครัฐหรือไม่ โดยให้ทุกฝ่ายดูข้อมูลให้รอบด้าน ความต้องการ กำลังผลิต การลงทุนในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะนำมาประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า และเร่งสรุปแผนพยากรณ์เพื่อนำไปทำแผนพลังงานชาติที่กำหนดกรอบให้เสร็จสิ้นในเดือน เมษายนปีหน้าต่อไป
“โควิด-19 ทำให้สำรองไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นมาก แต่ สำรองเหล่านี้ ต้องดูว่า หากเกิดวิกฤติ หรือ กรณีไอพีเอส ที่เป็นพลังงานทดแทนสูงขึ้นมาก หากแสงแดดไม่มา เอกชนต้องใช้ไฟฟ้าในระบบมากน้อยเพียงใด Spinning Reserveที่เหลือน้อยมากจะเป็นปัญหาต่อความมั่นคงหรือไม่ และให้ ดูตัวเลขการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีนี้เป็นต้นมา เทียบกับปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร เพราะน่าจะเป็นตัวเปรียบเทียบได้ดีกว่าช่วงตั้งแต่ มี.ค.-ส.ค. ที่ช่วงนั้นเศรษฐกิจกระทบหนักสุด โดยแผนด้านไฟฟ้านับเป็นหัวใจต้นทุนหลักของคนไทยทุกคน ดังนั้น ต้องทำให้รอบคอบไม่แพง แผนนี้ก็จะโยงไปถึงการนำขชื้อเพลิงทุกด้านเช่นก๊าซแอลเอ็นจี เป็นต้น”นายพรชัยกล่าว – สำนักข่าวไทย