เรียกร้องทบทวนร่างกฎหมายสหกรณ์ใหม่

กรุงเทพฯ  9 ธ.ค. – สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย​ ขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์​ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทำหนังสือ​ถึง รมช.เกษตรฯ ​ทบทวน​ร่างกฎกระทรวง​ 12 ฉบับ​ ระบุ​เป็น​อุปสรรค​ต่อ​การ​ดำเนิน​งานของ​สหกรณ์​ มั่นใจ​ยัง​สามารถ​ปรับ​แก้​ให้​เหมาะสม


นายปรเมศวร์​ อินทรชุมนุม​ ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) กล่าวว่า ​สหกรณ์ทั่วประเทศ​เห็นว่าการทำงานของคณะทำงานในการร่างกฎกระทรวงเกษ​ตร​และ​สหกรณ์​ 12 ฉบับ​ตาม พ.ร.บ.​สหกรณ์​ซึ่ง​ออกมาเพื่อกำกับ​การดำเนินงานของ​สหกรณ์​นั้น ​ไม่มีคนของขบวนการสหกรณ์ร่วมแสดงความคิดเห็น หรือชี้แจงถึงผลกระทบจากการร่างกฎกระทรวง

ทั้งนี้ การออกกฎบังคับใด ๆ ควรสอบถามความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน และควรมีคนของขบวนการสหกรณ์ ซึ่งมีความสามารถและศักยภาพเพียงพอเข้าไปร่วมขับเคลื่อนการร่างกฎกระทรวง เพื่อให้ทุกฝ่ายพึงพอใจกับกฎกระทรวงดังกล่าวมากกว่ามาบีบบังคับให้สหกรณ์ต้องปฏิบัติตามร่างกฎกระทรวงที่ภาคสหกรณ์ไม่ได้กำหนด


ล่าสุด​ทำหนังสือ​ถึง​นางสาวมนัญญา​ ไทย​เศรษฐ์​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​เกษตร​และสหกรณ์ ​ทบทวน​การขับเคลื่อนร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562 สิ่งที่เป็นห่วง คือผลประกอบการและการดำเนินงาน ซึ่งไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินงานของขบวนการสหกรณ์ในอนาคตและเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหกรณ์ในฐานะผู้ปฏิบัติและผู้แบกรับภาระของสหกรณ์ไว้ ซึ่งไม่อาจจะนิ่งเฉยต่อไปได้อีก

ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนกว่า 500 คน นำโดยสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย  ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด  ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด  และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ 7 วิชาชีพจะรวมตัวกันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแสดงออกและยื่นข้อเรียกร้อง​ต่อนางสาวมนัญญา เพื่อขอรับทราบเนื้อหาของร่างกฎกระทรวง 7 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้ว​ ขอให้ชะลอการพิจารณาร่างของ​กฎกระทรวงอีก​ 5 ฉบับที่อยู่​ระหว่าง​การพิจารณา​ของสำนัก​คณะกรรมการ​กฤษฎีกา​ไว้

จากนั้น​ตั้งคณะทำงานร่วมจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้แทนขบวนการสหกรณ์ เพื่อพิจารณาปรับปรุงในประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน​ ขอให้ผู้แทนขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเข้าร่วมชี้แจงในประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ในชั้นตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไปด้วย


“หากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงเพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะหรือข้อเรียกร้อง สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พร้อมที่จะยกระดับการเรียกร้องต่อไป” นายปรเมศวร์​ กล่าว

สำหรับกฎกระทรวงทั้ง 12 ฉบับดังกล่าว แม้จะผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแล้ว แต่กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และ ธปท.มิได้ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของขบวนการสหกรณ์และไม่หยิบยกมาพิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรคต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ ยังคงยึดเอาความเห็นของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่เข้าใจระบบสหกรณ์และไม่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือช่วยเหลือสหกรณ์เป็น​สำคัญ​

ทั้งนี้​ กฎกระทรวง 5 ฉบับหลังยังมีประเด็นสำคัญหลักที่สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไม่เห็นด้วยและจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานสหกรณ์หรือส่งผลกระทบต่อสมาชิกสหกรณ์ ดังนี้

1.เงินกู้สามัญของสมาชิกต้องชำระคืนให้เสร็จภายใน 150 งวด (12.5 ปี) ซึ่งสหกรณ์เห็นว่าควรกำหนดเป็นไม่เกิน 180 งวด (15 ปี) จะเหมาะสมและผ่อนคลายแก่สมาชิกมากกว่า

2.สมาชิกผู้กู้ต้องมีเงินได้รายเดือนหลังหักชำระหนี้ คงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตลอดอายุสัญญา ซึ่งสหกรณ์เห็นว่าเงินได้รายเดือนคงเหลือสุทธิควรยึดโยงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

3.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใช้เกณฑ์เดียวกับสหกรณ์ออมทรัพย์ในการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ทั้งที่บริบทของสมาชิกและการชำระหนี้ของสหกรณ์สองประเภทนี้แตกต่างกัน ซึ่งสหกรณ์เห็นว่าควรใช้เกณฑ์เดียวกับสหกรณ์การเกษตร จะเหมาะสมมากกว่า

4.การไม่นำมูลค่าหุ้นของสมาชิกผู้กู้มาหักออกจากหนี้เงินต้นคงเหลือก่อนประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งขบวนการสหกรณ์มีความเห็นว่า ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เป็นการประมาณการความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้สูญ ดังนั้น จึงควรนำมูลค่าหุ้นมาหัก (ซึ่งสหกรณ์มีบุริมสิทธิพิเศษตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์) เพื่อลดยอดหนี้ (ยอดความเสี่ยง) คงเหลือก่อนประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้ เพราะไม่ได้หักหนี้กันจริง ๆ ที่ต้องมาพิจารณาว่าหุ้นเป็นทรัพย์สินของสมาชิกหรือเป็นทุนของสหกรณ์

5.การทยอยประมาณการค่าเผื่อการปรับมูลค่าที่ดินแทนการชำระหนี้รอขายไว้ในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จนกว่าที่ดินแทนการชำระหนี้จะมีมูลค่าร้อยละ 50 ซึ่งสหกรณ์เห็นว่าควรตัดออก เพราะเมื่อกำหนดให้ตีราคาชำระหนี้ตามราคาประเมินของทางราชการหรือร้อยละ 70 ของราคาประเมินจากผู้ประเมินรับอนุญาตแล้ว ก็ไม่ควรประมาณการค่าเผื่อดังกล่าว อีกทั้งที่ดินมีแต่จะปรับเพิ่มมูลค่า​.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เพลิงไหม้โรงอบลำไย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

เพลิงไหม้โรงงานอบลำไย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่เร่งนำรถดับเพลิงเข้าระงับเหตุ เพื่อควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้

พุ่งไม่หยุดราคาทองคำโลกนิวไฮอีก คาดไปต่อถึง 3 พันดอลลาร์/ออนซ์

ราคาทองคำตลาดโลกพุ่งแตะ 2,800 ดอลลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ นักวิเคราะห์คาดมีโอกาสพุ่งต่อถึง 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่งผลราคาทองไทยวันนี้ขึ้นต่อจากราคาปิดวานนี้ และทำนิวไฮเท่าวานนี้

ข่าวแนะนำ

เปิดโครงการ “เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต” ครั้งที่ 10

นายกฯ ควง “คุณหญิงพจมาน-ครอบครัว” นำ ครม.-ประชาชน ร่วมโครงการเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 10 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สาว อบต.ตกใจ ตำรวจตามรอยเงิน 39 ล้านบาท ที่แท้ชื่อซ้ำกัน

สาว อบต. ตกใจ ตำรวจมาถึงที่ทำงาน ถามถึงเงิน 39 ล้านบาท ที่แท้ชื่อซ้ำกัน ยันไม่เคยรู้จัก “มาดามอ้อย-ทนายตั้ม” มาก่อน

“มาริษ” ประท้วงอิสราเอล หลังแรงงานไทยดับ 4

“มาริษ” รมว.ต่างประเทศ ร่อนหนังสือ​ประท้วงอิสราเอล หลังแรงงานไทยดับ 4 เจ็บ 1 ให้ยุติส่งเข้าพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมยับยั้งชั่งใจ ป้องกันความขัดแย้งขยายตัว ขอคนไทยชะลอการเดินทางไปอิสราเอล-ตะวันออกกลาง