กรุงเทพฯ 8 ธ.ค.-บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง ผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรก (8 ธันวาคม63) ด้วยราคา 7.05 บาท/หุ้น เหนือจอง 90.54% จากราคา IPO ที่ 3.70 บาท/หุ้น พร้อมเดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มเป็น 12,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี
-บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ ในวันนี้ (8 ธ.ค.)โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “SAK”มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 7,755.20 ล้านบาท เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรก (8 ธันวาคม63) ด้วยราคา 7.05 บาท/หุ้น เหนือจอง 90.54% จากราคา IPO ที่ 3.70 บาท/หุ้น
SAK เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (สินเชื่อจำนำทะเบียน) และไม่มีหลักประกัน ภายใต้ชื่อ “สินเชื่อศักดิ์สยาม” และในปี 2562 ได้บริษัทขยายสู่ธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำรงชีพ
นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน โดยจะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคล ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ชำระคืนเงินกู้บางส่วนให้กับสถาบันการเงิน และใช้พัฒนาระบบงานการให้บริการสินเชื่อของบริษัท เพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน เพื่อดันพอร์ตสินเชื่อให้เพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2566
สำหรับผลประกอบการช่วง 9 เดือนปี 2563 SAK มีกำไรสุทธิ 480 ล้านบาท หรือเติบโต 33.6% โดยสามารถลดอัตรา NPL ลงเหลือ 2.6% ทำให้ ณ วันที่ 30 กันยายน 63 SAK มีพอร์ตสินเชื่อรวม 6,247 ล้านบาท จากจำนวนสัญญาสินเชื่อรวม 231,729 สัญญา โดยลูกหนี้ 90% ของพอร์ตสินเชื่อรวมเป็นลูกหนี้ที่มีหลักประกัน พร้อมตั้งเป้าปี 63 พอร์ตสินเชื่อโตขึ้นอยู่ที่ 6,400-6,500 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อใหม่ประมาณ 10% และตัวเลข NPL อยู่ที่ 2.5%
ขณะที่ปี 64 มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้นและกลับมาเป็นบวกได้ จากกิจกรรมทางเศรษฐทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อความต้องการสินค้าเกษตร ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อดำเนินธุรกิจขยายตัวตาม ทั้งนี้ไม่กังวลการระบาดรอบ 2 ในไทย หรือหากมีการระบาดจริง ก็จะไม่รุนแรงเท่ารอบแรก เพราะไทยมีประสบการณ์ในการรับมือ และคนไทยมีความตื่นตัวในการระวังตัวมากขึ้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ปี 64 SAK มีพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 8,400 ล้านบาท
ทั้งนี้ SAK มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและหลังหักสำรองตามกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย