กรุงเทพฯ 2 พ.ย. – WHA Group มองเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบตัว K มีทั้งกลุ่มที่รอดและไม่รอด แนะ 4 แนวทาง ดัน GDP ไทยปี 64 โตเกิน 3.6%
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล รีท แมนเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการบริโภค เพราะเชื่อว่าคนไทยยังมีเงิน แต่ไม่กล้าใช้จ่าย เพราะกังวลความไม่แน่นอนในสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้น การที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นก็จะทำให้คนกล้าใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SME มองว่าแค่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) อาจไม่เพียงพอ ควรเร่งเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดเและแข่งขันได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบตัว K คือ จะมีทั้งกลุ่มที่รอดและกลุ่มที่ไม่รอด ดังนั้น รัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือและดูแลใกล้ชิดในกลุ่มผู้ที่มีแนวโน้มจะรอด หรือกลุ่มที่ธุรกิจยังดำเนินการได้
นางสาวจรีพร แนะแนวทาง 4 เรื่องที่รัฐบาลควรทำในระยะถัดไป เรื่องที่ 1 คือ ต้องเร่งกำหนดมาตรการเพื่อเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาไทยเร็วที่สุดภายใต้มาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างชาติต่างรอเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก โดยนักลงทุนเข้ามาไทย 1 ราย จะนำเม็ดเงินเข้ามาด้วยอย่างต่ำ 1,000 ล้านบาท เรื่องที่ 2 คือ เร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่เร็วและมีประสิทธิภาพ เรื่องที่ 3 คือ ออกมาตรการเพิ่มเติมในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด และเรื่องที่ 4 คือ การดึงหรือกระตุ้นนักลงทุนไทยให้กลับเข้ามาหรือเพิ่มการลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ มองว่าหากรัฐบาลสามารถดำเนินการทั้ง 4 เรื่องได้อาจทำให้ตัวเลขจีดีพีไทยปี 2564 โตมากกว่า 3.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) คาดการณ์ไว้
ขณะที่การชุมนุมทางการเมืองในประเทศขณะนี้ มองว่าเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งประเทศต่าง ๆ ที่อยู่รอบไทยก็มีการชุมนุมทางการเมืองให้เห็นเป็นระยะ ไทยมีจุดเด่น คือ ที่ผ่านมาแม้เกิดการชุมนุมรุนแรง ก็ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ดังนั้น สถานการณ์ดังกล่าวจึงไม่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ จากการติดต่อกับนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งล่าสุดได้หารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ซึ่งนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นไม่ได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์การชุมนุมในไทยขณะนี้ แต่สิ่งที่นักลงทุนถาม คือ เมื่อไหร่ไทยจะเปิดประเทศให้นักลงทุนเข้ามา.-สำนักข่าวไทย