กรุงเทพฯ 16 ต.ค. – กรมป่าไม้ชี้แจงเหตุดำเนินคดีเหมืองทองอัครา ยืนยันไม่กระทบการพิจารณาคดีตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับรัฐบาลไทย
นายอดิศร นุชดำรง อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ร่วมกันขยายผลตรวจสอบเหมืองทองของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กรณีการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยตรวจสอบพบการบุกรุกพื้นที่ครอบครองการทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตและทำลายทางสาธารณะประโยชน์ของประเทศที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในรายของบริษัท อัครา จำนวน 15 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 73 ไร่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่การกลั่นแกล้งหรือเป็นการนำไปต่อสู้คดีความที่มีการฟ้องร้องระหว่างบริษัทแม่กับรัฐบาลไทย
ด้าน พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผบก.ปทส. กล่าวว่า คดีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยรวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีบริษัทอัครารีซอร์สเซส และผู้เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ทางหลวง พร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการอนุญาตให้บริษัทอัคราไมนิ่ง เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่โดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน ซึ่งมีการชี้มูลไปแล้วเมื่อปี 2559
สำหรับ 15 คดีใหม่ครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับคดีเดิม ดังนั้น บก.ปทส.จะเสนอ บช.ก. ตั้งคณะทำงานสอบสวนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งการดำเนินคดีเป็นไปตามพยานหลักฐานที่กรมป่าไม้รวบรวมหลักฐานซึ่งพิสูจน์ความผิดจริง เนื่องจากมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนและแจ้งความไว้ก่อนแล้ว หลังจากนี้ต้องดูว่า เหมืองแร่จะมีข้อโต้แย้งใดอีกบ้าง ตำรวจพร้อมให้มาชี้แจง ยืนยันไม่มีผลกับการพิจารณาคดีตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับรัฐบาลไทย
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ที่ปรึกษาชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร กล่าวว่า ปี 2559 คสช.มีคำสั่งให้เหมืองหยุดกิจการเพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาดจากเรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขและชีวอนามัย ไม่ใช่สั่งปิดกิจการ ซึ่งแต่ปี 2560 ได้ประสานการปฏิบัติภารกิจหลายหน่วย พบการขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้โดยไม่ถูกต้อง ประกอบกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
ล่าสุดจากการลงพื้นที่ตรวจสอบประกอบการรวบรวมพยานหลักฐานพบการกระทำผิดเกี่ยวกับที่ดินของบริษัทฯ รวมพื้นที่ 15 แปลง ใน 3 จังหวัด แบ่งเป็นการแปลงประทานบัตร อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร บุกรุกผืนป่ารวม 35 ไร่, แปลงประทานบัตร อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ 16 ไร่, บ่อกักโลหะกรรมที่ 1 พื้นที่บ้านวังทรายพูนใน บุกรุกป่า 4 ไร่ บ่อกักโลหะกรรมที่ 2 พื้นที่เดียวกัน บุกรุกป่า 3 ไร่ เป็นการกระทำผิด 3 ประการ คือ ทำลายถนน ทางสาธารณะที่ไม่ได้ขอใช้ประโยชน์กับกรมป่าไม้ ทำเหมืองแร่ออกนอกพื้นที่ได้รับอนุญาต นำพื้นที่ที่อนุญาตใช้ประโยชน์ไปออกเอกสารสิทธิ์ จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับ บก.ปทส.-สำนักข่าวไทย