กรุงเทพฯ 30 ก.ย. – ทส.-ร่วมกับเอกชน 13 องค์กร ลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร หนุนใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ยิ่งใช้มาก ราคายิ่งถูกลง ด้าน GC สนับสนุนครบวงจร ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นชี้เป็นเรื่องดีพร้อมเข้าร่วมโครงการ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร (Food Delivery) ระหว่าง ทส.ร่วมกับกลุ่มธุรกิจบริการส่งอาหาร (Platform) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 13 องค์กร ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ กรมอนามัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) และกลุ่มผู้ประกอบการบริการส่งอาหาร ประกอบด้วย บริษัท วงใน มีเดีย , บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) หรือ Food Panda, บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Grab Food บริษัทเวล็อคซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Gojek และ LalaMove
รมว.ทส. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดย ทส.เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกปี 2561 – 2573 ทั้งนี้ พบว่าในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้มีการใช้บริการ Food Delivery ที่มาพร้อมขยะพลาสติกในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว โดยพบว่าในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ขยะพลาสติกทั่วประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ดั้งนั้น ทส.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายลดการใช้ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร และใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทน เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่เห็นพ้องต้องกันในการขับเคลื่อน ภายใต้แนวคิด “Food Delivery วิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”
กลุ่มผู้ให้บริการส่งอาหารจะมีการปรับแพลตฟอร์มการสั่งอาหารให้มีตัวเลือก opt-in ในการรับหรือไม่รับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของลูกค้า เพื่อลดภาระของร้านและลดการให้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ไม่จำเป็น รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนร้านอาหารที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ร่วมโครงการ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางของแพลตฟอร์ม, เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับร้านอาหาร ร้านค้า ผู้จัดส่งอาหาร สมาชิกหรือเครือข่าย รับทราบนโยบายและมาตรการการขับเคลื่อนการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในการบริการส่งอาหาร กลุ่มแพลตฟอร์มจะสร้างแรงจูงใจให้ร้านอาหาร ร้านค้า และผู้บริโภคงดใช้กล่องโฟม ถุงพลาสติกหูหิ้ว ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco packaging) ตามความเหมาะสม
“ที่ผ่านมาราคาบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้จะแพงกว่าพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งถึง 3 เท่า หากความร่วมมือกันรณรงค์การใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ คาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น ราคาก็จะลดต่ำลงในที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของผู้บริโภค เจ้าของร้านอาหารในการเพิ่มการใช้ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม” นายวราวุธ กล่าว
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า GC ในฐานะต้นแบบด้านศรษฐกิจหมุนเวียนได้ลงทุนในธุรกิจไบโอพลาสติกตั้งแต่ปี 2554 เพื่อพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable Bioplastics) ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งที่ผ่านมาได้ช่วยพัฒนาและสนับสนุนเม็ดไบโอพลาสติก (PBS, PLA, BioCompounds) , ออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ ช่วยประสานการการผลิตการใช้แบบครบวงจร โดยประสานกับทาง Converters หรือผู้ผลิต เช่น Bio-Eco, ทานตะวัน, ThaiNam และ KMP ในการผลิต ของที่ใช้สำหรับ Food Delivery (บรรจุภัณฑ์เคลือบ PBS, หลอด, ช้อน-ส้อม, ถ้วยไบโอพลาสติก และถุงไบโอพลาสติก) และพัฒนาและรับรองมาตรฐาน GC Compostable Label หรือฉลากยืนยันวัตถุดิบ (Material Label) ที่บ่งบอกว่าสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการนั้น ๆ ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้ทางชีวภาพของ GC ลูกค้าสามารถใช้ Product Label ของ GC เพื่อความน่าเชื่อถือและอนาคตมีแผนที่จะรับผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบ Recycle หรือ Compost
“บริษัทสนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสลายตัวได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการบริการส่งอาหาร โครงการนี้ถือเป็นการสร้างประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืชเศรษฐกิจ จะช่วยยกระดับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพไทยเกิดการขับเคลื่อนประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อย่างสมบูรณ์” นายคงกระพัน กล่าว
นายวิชัยยุทธ เสือสมิง ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นอาละดิน ย่านเหม่งจ๋าย กล่าวว่า ทางร้านให้ความร่วมมือกับฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ผู้บริโภคเลือกได้ทั้งไม่รับช้อนส้อม หรือเลือกรับกล่องย่อยสลายได้ ซึ่งเป็นผลดีนอกจากลดภาวะโลกร้อนแล้วยังช่วยลดปัญหาขยะที่เป็นส่วนอุดตันใน กทม.ก่อปัญหาน้ำท่วม และลดผลกกระทบสิ่งแวดล้อม. -สำนักข่าวไทย