ราชบุรี-เพชรบุรี 23 ก.ย. – รมว.คมนาคมยืนยันเร่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมสู่ภาคใต้ ทั้งทางถนน ราง น้ำ อากาศ โดยเตรียมนำโครงการส่วนต่อขยายมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 เอกชัย-บ้านแพ้ว มูลค่า 32,187 ล้านบาท ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ต.ค.นี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นั่งเฮลิคอปเตอร์สำรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย และทางด่วนสายพระราม 3 – ดาวคะนอง -วงแหวนตะวันตก รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดระหว่างการก่อสร้าง โดยระบุว่าขณะนี้ความคืบหน้างานก่อสร้างถือว่าน่าพอใจ ขณะที่การแก้ปัญหาจราจรนั้น กรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้มีการประสานความร่วมมืออำนวยการจราจรจนขณะนี้พบว่าปัญหาการจราจรติดขัดเบาบางลง
ส่วนการพัฒนาเส้นทางถนนที่เป็นหัวใจสำคัญลงสู่ภาคใต้นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่าเดือนตุลาคมนี้กระทรวงคมนาคมเตรียมนำโครงการส่วนขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 ซึ่งจะต่อเชื่อมจากโครงการถนนเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16 กม. งบประมาณรวม 32,187 ล้านบาท โดยจะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ดำเนินการก่อสร้างปี 2564 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการปี 2567
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาแนวใหม่จากแยกวังมะนาว-ทล.3510 ระยะทาง 36.8 กม. วงเงินลงทุน 3,040 กม. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้งบประมาณปี 2564 ศึกษารายละเอียดโครงการ ยืนยันจะใช้งบประมาณปี 2565 เริ่มดำเนินการก่อสร้าง รวมทั้งยังมีโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. งบลงทุน 79,006 ล้านบาท ซึ่งเดิมตั้งเป้าเปิดให้บริการปี 2569 แต่ประชาชนบางส่วนในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ยังไม่เห็นด้วยกับโครงการ ดังนั้น ก็จะเริ่มงานก่อสร้างไปก่อนในลักษณะหัวและท้ายของเส้นทาง โดยจะทำไปพร้อมกับการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยในส่วนแนวเส้นทางที่มีประชาชนไม่เห็นด้วย มีระยะทางประมาณ 5 กม. หากสุดท้ายประชาชนในพื้นที่ ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางก็สามารถดำเนินการได้ โดยมอเตอร์เวย์สายนี้คาดว่าจะสามารถเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการและเริ่มงานก่อสร้างปี 2564
วันเดียวกันนี้ รมว.คมนาคม ได้ประธานเปิดงานนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี และส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ประจำปี 2563 ครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่อ “MOT 2020 Move On Together คมนาคมเคียงข้างชาวใต้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤติ COVID-19” และกล่าวเปิดงาน “คมนาคมภูมิใจ รวมไทยสร้างชาติ” โดยระบุได้ยึดหลักบริหารงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พร้อมกับการผสมผสานเพิ่มเติมนโยบายที่เน้นสนองตอบความต้องการของประชาชนภายใต้สถานการณ์สังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบกได้เร่งรัดพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงความเจริญสู่ภาคใต้ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงนครปฐม – ชะอำ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายหาดใหญ่ – ชายแดนไทย/มาเลเซียเชื่อมภาคกลางสู่ภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวโดยเร็ว และในอนาคตยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองภายใต้กรอบแผนแม่บท MR-MAP (Motorways + Rails) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมในรูปแบบใหม่ที่จะเพิ่มความเชื่อมโยงภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน มีความปลอดภัยสูงขึ้น และลดภาระในการลงทุนของภาครัฐระยะยาว
ส่วนระบบคมนาคมทางน้ำได้เร่งพัฒนาท่าเทียบเรือขนาดใหญ่และท่าเทียบเรือน้ำลึก รวมทั้งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) เมื่อโครงการเสร็จจะสร้างความเจริญให้กับประเทศ และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนกระทรวงฯ ยังมีวิสัยทัศน์ที่จะพลิกโฉมการขนส่งระบบรางของไทย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภาคใต้ โดยการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ 5 ช่วง ได้แก่ ช่วงนครปฐม – หัวหิน ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ รวมทั้งผลักดันเส้นทางรถไฟสายใหม่ 3 สาย ได้แก่ ช่วงชุมพร–ระนอง ช่วงสุราษฎร์ธานี – ท่านุ่น และช่วงสุราษฎร์ธานี – ดอนสัก
ด้านการคมนาคมทางอากาศ ได้เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของท่าอากาศยานรองรับการท่องเที่ยวภาคใต้ ได้แก่ การปรับปรุงท่าอากาศยานหัวหิน ภูเก็ต หาดใหญ่ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรรมราช สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่กำลังจะเปิดให้บริการภายในปีนี้ คือ ท่าอากาศยานเบตง
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังคำนึงถึงความปลอดภัยการเดินทาง โดยคิดค้นกันชนยางพาราครอบแบริเออร์คอนกรีต (RFB) และเสาหลักนำทางจากยางพารา (RGP) ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ทาง ตลอดจนยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสวนยาง โดยรับซื้อน้ำยางพาราโดยตรงจากเกษตรกรไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้ กระทรวงมีแผนดำเนินการโครงการดังกล่าว ระหว่างปี 2563 – 2565 วงเงิน 85,623 ล้านบาท โดยตั้งเป้าผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 12,282 กม. 83,421 ล้านบาท และหลักนำทางยางพารา 1.063 ล้านต้น 2,202 ล้านบาท คาดว่าจำนวนเงินที่เกษตรกรจะได้รับ 3 ปี รวม 30,108 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณน้ำยางที่ใช้ 1 ล้านตัน เฉลี่ยปีละ 300,000 ตัน.-สำนักข่าวไทย