กรุงเทพฯ 17 ก.ย. – สำนักงานชลประทานที่ 6 เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่าจากอิทธิพลของพายุโนอึล ทั้ง 7 ลุ่มน้ำสาขาในลุ่มน้ำชีและบางส่วนของลำน้ำมูลใน 5 จังหวัดอีสานกลาง
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนจะตกชุกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 6 แจ้งเตือน ว่า พายุโซนร้อนโนอึล ซึ่งเป็นระดับ 3 จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น ซึ่งเป็นระดับ 5 คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งตอนกลางของประเทศเวียดนามแล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน โดยจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและตกหนักบางแห่ง รวมทั้งเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จึงเตรียมพร้อมเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 สั่งการให้โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัด ซึ่งอยู่ตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง รวมถึงพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ตลอดจนแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนเตรียมพร้อมอพยพได้ทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากทั้ง 7 ลุ่มน้ำสาขาในลุ่มน้ำชีและบางส่วนของลุ่มน้ำมูล ได้แก่ ลำน้ำยัง ลำน้ำปาว ลำน้ำพอง ลำคันฉู ลำเสียวใหญ่ ลำปะทาว และลำน้ำพรม-เชิญ ซึ่งปฏิบัติตามแผนรับน้ำหลากที่วางไว้แล้วตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน โดยได้ติดตั้งธงสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำ กำหนดจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือหากเกิดน้ำท่วม จัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ และทำแบบจำลองคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ รวมถึงตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานทั้ง 130 แห่ง ตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนทั้งหมด 110 แห่ง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ 257 รายการไว้ประจำจุดเสี่ยงพร้อมเข้าช่วยเหลือได้ทันที
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ขนาดใหญ่และขนาดกลางให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ปรับเพิ่มการระบายน้ำในแม่น้ำชีทั้ง 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง และเขื่อนร้อยเอ็ดให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม นอกจากนี้ จะบูรณาการจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 7 เตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อเป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก บูรณาการกับทางจังหวัด โดยใช้กลไกกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั้ง 5 จังหวัด เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชน.-สำนักข่าวไทย