กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – อธิบดีกรมโรงงานฯ ยืนยันไม่ได้ขอนำเข้าเศษพลาสติก เพียงให้ข้อมูลความต้องการของเอกชน ส่วนโควตานำเข้าเดิมจะหมดลงกลางเดือนกันยายนนี้
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมยื่นเรื่องต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน เพื่อขอให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศว่า ขอปฏิเสธเรื่องดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง เพราะไม่ได้มีเรื่องนี้ออกไปจากกรมโรงงานฯ และไม่ใช่นโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศตามโควตาเดิมที่เคยอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้จะหมดลงกลางเดือนกันยายนนี้ หากไม่มีนโยบายให้นำเข้าใหม่ก็จะไม่สามารถนำเข้าเศษพลาสติกได้อีก
นายประกอบ กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้มีนโยบายสนับสนุนให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ สิ่งที่ตัวแทนกรมโรงงานฯ ดำเนินการเป็นเพียงการให้ข้อมูลความต้องการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศตามที่ภาคเอกชนแจ้งเข้ามาที่กรมโรงงานฯ นั้น และเรื่องนี้ที่จริงแล้ว ทางกรมโรงงานฯ ต้องการให้ภาคเอกชนเป็นฝ่ายให้ข้อมูลต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ มากกว่า ที่ผ่านมาให้ข้อมูลในฐานะเป็นภาครัฐที่รับผิดชอบดูแลโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนสาเหตุที่ภาคเอกชนขอนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ได้ให้เหตุผลว่าเพราะเศษพลาสติกในประเทศไม่มีความพร้อมในเรื่องความสะอาดและคุณภาพ ส่วนการตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าหรือไม่ เป็นเรื่องที่คณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีข้อสรุปใด ๆ
ดังนั้น ได้แจ้งผู้แทนกรมโรงงานฯ ที่เข้าร่วมประชุมไปแล้วว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เรื่องจะขอนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลเอง โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)น่าจะเป็นตัวแทนภาคเอกชนได้ ขณะที่กรมโรงงานฯ มีจุดยืนเป็นกลาง โดยไม่สนับสนุนและไม่คัดค้านแล้วแต่ภาคเอกชน และที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณา แต่สิ่งที่ทางกรมโรงงานฯ ต้องการ คือ อยากสนับสนุนให้โรงงานใช้เศษพลาสติกในประเทศมากกว่า
นายประกอบ กล่าวว่า เรื่องการอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศหรือไม่ เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเพียงหน่วยงานปลายทางเท่านั้น ซึ่งการพิจารณามอบหมายให้ดำเนินการกระทรวงพาณิชย์อาจมอบหมายหน่วยงานรัฐหน่วยอื่นก็ได้ โดยขั้นตอนการพิจารณาจะเริ่มต้นจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์มีมติออกมา จากนั้นจะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณา และเรื่องถึงจะดำเนินการต่อไปยังกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ออกประกาศหรือกฎกระทรวงโดยมีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ กำหนดไว้ ต่อจากนั้นอาจจะมอบให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอย่างกรมโรงงานฯหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการก็ได้.-สำนักข่าวไทย