กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – รมว.คมนาคม เสนอแก้ไขกฎหมายเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานยาว 99 ปี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยให้เต็มศักยภาพ พร้อมระบุต้องกล้าทลายข้อจำกัดอย่ากังวลว่าจะเอื้อเอกชน ขณะที่ระบบรางใช้ได้เพียงร้อยละ 30
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 ก.ย.) กรมการขนส่งทางรางเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชวนเอกชนร่วมลงทุนเดินรถทางราง โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ระบบรางไทยปัจจุบันใช้ประสิทธิภาพได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น จากที่มีการขนส่งทางราง 10.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังมีการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมทั้งในประเทศและเชื่อมต่อระหว่างประเทศ โดยได้มอบแนวทางว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาขนส่งระบบราง สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญ คือ ช่วงว่างการเดินรถมีมากน้อยแค่ไหนและจะบริหารอย่างไร แน่นอนว่าสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องบริหารก่อน หากสหภาพฯ ทำเต็มที่แล้วที่เหลือก็จะให้เอกชนทำ
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การจะเปิดให้เอกชนเข้ามาต้องกล้าที่จะให้สัมปทานแก่เอกชน อาจเป็นการเสนอเปิดให้เอกชนลงทุนเข้ามาลงทุนยาวเป็น 99 ปี เหมือนกับหลายประเทศ ซึ่งไม่ใช่มองว่าทุกอย่างคือการเอื้อเอกชน แต่ต้องดูว่าประชาชนได้อะไร และเรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดการพัฒนามากขึ้น แนวคิดเบื้องต้นต้องการให้ภาคเอกชนเข้าร่วมเดินรถในสล็อตที่การรถไฟฯ ยังไม่ได้มีการบริการ รวมทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ให้เอกชนจัดหารถแล้วนำวิ่งให้บริการโดยต้องจ่ายเช่ารางให้กับการรถไฟฯ หรืออาจเป็นรูปแบบเช่าเดินรถคล้ายกับแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปรับปรุงขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจากการพูดคุยกับเอกอัครราชทูตหลายประเทศ แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ทั้งรัสเซีย สาธารณรัฐเช็ก เกาหลีใต้ รวมถึงสหรัฐอเมริกา โดยเบื้องต้นตั้งเป้าหมายว่าการให้ภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการระบบรางจะต้องสามารถขับเคลื่อนได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กรมรางเสร็จ เนื่องจากมี พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย อยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตีกลับรถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง รัฐมนตรีคมนาคมชี้แจงว่าไม่ใช่การตีกลับ แต่เป็นเพียงการขอข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากมีข้อสงสัยว่า ประเทศไทยจะทำเส้นทางรถไฟจำนวนมหาศาล แต่จะเอารถที่ไหนมาวิ่ง ดังนั้น จึงเป็นที่มาของวันนี้ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน
ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า การบริการระบบรางที่ผ่านมาบางเส้นทางยังใช้ได้ไม่เต็มศักยภาพ จึงควรเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าปี 2565 จะมีการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 16.5 ล้านตัน จากปัจจุบัน 10.5 ล้านตันต่อปี เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางให้เป็น 30% ใน 3 ปีข้างหน้า.-สำนักข่าวไทย