กรุงเทพฯ 8 ก.ย. – สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเผย นายกฯ แจ้งให้กรรมการร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเช้าพรุ่งนี้ ยังคงเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาตาม 3 ข้อเสนอ ลั่นชาวประมง 22 จังหวัดทยอยนำเรือเข้าเทียบท่า หากผลหารือไม่น่าพอใจ จะนัดหมายเดินจากแต่ละจังหวัด มุ่งหน้าชุมนุมยืดเยื้อที่ทำเนียบ
นายสุรเดช นิลอุบล รองประธานกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ได้รับแจ้งจากผู้แทนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ให้กรรมการสมาคมฯ เข้าประชุมในวันพุร่งนี้ (9 ก.ย.) เวลา 9.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ยังไม่ทราบว่า นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายใครเป็นผู้แทนหารือร่วมกับชาวประมง ทั้งนี้ยังคงยืนยันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย ให้ปรับปรุงพ.ร.ก. การประมง โดยนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว โดยมีตัวแทนชาวประมงทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการนำเสนอแก้ไขกฎหมายด้วย ให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แล้วยกเลิกคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ฉ.1) และคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง (ฉ.2) ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
หากหารือร่วมกันแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่รับที่จะแก้ไขตามที่ส่งหนังสือผ่านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไป ในช่วงบ่ายสมาคมฯ จะประชุมใหญ่เพื่อกำหนดวันที่ชาวประมงจะเดินจากแต่ละจังหวัด มารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐซื้อเรือคืนไปให้หมด โดยขณะนี้ชาวประมงพาณิชย์ 22 จังหวัดชายทะเลทยอยนำเรือกลับเข้าฝั่ง พร้อมเคลื่อนตัวมากกรุงเทพฯ ตามนัดหมายแล้ว
ด้านนายชินชัย สถิรยากร ที่ปรึกษากรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับการประสานจากคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติให้ส่งผู้แทนเข้าหารือ แต่ทางสมาคมฯ ต้องการจะฟังคำตอบจากนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติชุดนี้มารับผิดชอบ ปัญหาที่เรื้อรังมากว่า 6 ปีก็ไม่ได้รับการแก้ไข ทางตรงข้าม กลับจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นเพราะยังออกกฎและระเบียบที่เป็นอุปสรรคมาตลอด โดยอ้างว่า ทางสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ติติงว่า ไทยมีปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) การค้ามนุษย์ ความไม่ยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล วนเวียนอยู่ตลอด แต่เป็นกฎหมายที่ไม่มีผู้แทนชาวประมงเข้ารับฟังความคิดเห็นหรือให้ข้อมูล จนชาวประมงส่วนใหญ่รู้สึกท้อใจเพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมการประกอบอาชีพของชาวประมงเลย จึงต้องการเลิกประกอบอาชีพนี้อย่างถาวร . – สำนักข่าวไทย