กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – ภาคีเกษตรกรให้กำลังใจ รมว. เฉลิมชัย ที่ส่งหนังสือถึงคกก. วัตถุอันตรายให้พิจารณาข้อเสนอของเกษตรกรทบทวนการแบนพาราควอต โต้กระทรวงสาธารณสุข หยุดนำเข้าสินค้าต่างประเทศที่มีการใช้พาราควอตเพื่อสุขภาพคนไทย
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ร่วมกับผู้แทนองค์กรเกษตรกรรวม 19 แห่งที่เป็นผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจพร้อมสนับสนุนสนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรับข้อร้องเรียนของเกษตรกรเพื่อยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย (คกก.วอ.) ให้พิจารณายกเลิกแบนพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส รวมทั้งให้กำลังใจนายเฉลิมชัยที่ยึดถือประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติเป็นสำคัญ อีกทั้งขณะนี้ตามคำสั่งกรมวิชาการเกษตรนั้น ครบกำหนดระยะเวลาผ่อนปรนที่ให้ส่งคืน 2 สารแก่ร้านค้า หากถูกสารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันจับกุมจะมีความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เกษตรกรไม่มีทางเลือก ยังจำเป็นต้องใช้เนื่องจากสารเคมีอื่นต้องใช้ในปริมาณมากกว่า ราคาสูงกว่า แต่ประสิทธิภาพการกำจัดวัชพืชต่ำกว่าพาราควอต อีกทั้งดูดซึมเข้าสู่พืชประธาน ทำให้เสียหาย ผลผลิตตกต่ำ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ
นายภมร ศรีประเสริฐ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโคราชกล่าวว่า เกษตรกรผิดหวังในข้าราชการกรมวิชาการเกษตรและนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตร อีกทั้งยังเมินเสียงเกษตรกร ที่เกษตรกรออกมาคัดค้านการแบนพาราควอตเพราะเดือดร้อน ไม่ใช่ได้รับผลประโยชน์จากบริษัทผลิตสารเคมีตามที่เอ็นจีโอกล่าวหา ทั้งนี้เมื่อห้ามเกษตรกรใช้สารพาราควอต แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ กลับกำหนดให้นำเข้าวัตถุดิบที่ปนเปื้อนพาราควอตได้ เป็นการปฏิบัติ 2 มาตรฐานที่ทำร้ายเกษตรกรไทยอย่างรุนแรง
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทยกล่าวถึงที่นางสาวมนัญญาโพสต์เฟซบุ๊คว่า จะเอาสารพิษกลับมาอีกทำไม จึงขอถามท่านว่า หากใช้ไม่ถูกต้อง สารเคมีย่อมทำให้เกิดพิษทั้งสิ้น ส่วนที่นางสาวมนัญญาสนับสนุนการใช้สารชีวภัณฑ์ ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บุกตรวจยึดและจับกุมแหล่งผลิต-จำหน่ายสารชีวภัณฑ์พบว่า มีสารพาราควอตและไกลโฟเซตปนอยู่ทั้งสิ้น โดยกรมวิชาการเกษตรยืนยันมาตลอดว่า ยังไม่มีสารชีวภัณฑ์ที่สามารถกำจัดวัชพืชได้ ส่วนที่ระบุว่า กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้สารกลูโฟซิเนตแทนนั้น สารนี้ในสหภาพยุโรปยกเลิกใช้ไปแล้วเนื่องจากความเป็นพิษสูง หากไม่ทบทวนการแบนพาราควอต ก็ขอให้แบนกลูโฟซิเนตและไกลโฟเซตด้วย นอกจากนี้ขอให้นางสาวมนัญญาซึ่งเป็นรมช. กระทรวงเกษตรฯ หารือกับกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ถ้าห่วงใยสุขภาพคนไทยจริง ต้องไม่นำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศที่ใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีค่าตกตกค้างและไม่ผ่อนปรนการนำเข้าจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เพราะไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร
นอกจากนี้สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแสดงรายงานจากการเก็บตัวอย่างวัตถุดิบและสินค้าที่มีการใช้พาราควอตในประเทศ ซึ่งตรวจไม่พบสารพาราควอตตกค้าง ดังนั้นคำกล่าวอ้างของนางสาวมนัญญาและเอ็นจีโอที่ว่า ห่วงใยสุขภาพคนไทยและผู้บริโภคจึงฟังไม่ขึ้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเพื่อเอื้อนายทุน
“19 องค์กรเกษตรกร ขอสนับสนุนและสรรเสริญความกล้าหาญของรมว. เฉลิมชัยที่รับทราบความเดือดร้อนของเกษตรกรแล้ว ได้ส่งเรื่องถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทบทวนการยกเลิกสารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรรอดจากการถูกจำคุกสูงสุด 10 ปีและปรับ 1 ล้านบาท โดยเกษตรกรกว่า 10 ล้านคนทั่วแผ่นดินจะจดจำวีรกรรมที่นายเฉลิมชัยทำเพื่อเกษตรกรและประเทศชาติไปตลอด” นายสุกรรณ์กล่าว
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ส่งหนังสือไปยังคกก. วอ. แล้ว ตามที่ได้รับทราบความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมทั้งที่นักวิชาการส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาให้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติ เมื่อมาผู้ยื่นหนังสือขอให้ส่งข้อเรียกร้องไปยังคกก.วอ. ก็ดำเนินการตามนั้น อีกทั้งพร้อมรับข้อเรียกร้องของทุกกลุ่มที่ต้องการส่งความเห็นไปให้คกก.วอ. ไม่ว่า ซึ่งการพิจารณาเป็นอำนาจหน้าที่ของคกก.วอ. .- สำนักข่าวไทย