กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – รมว.เกษตรเตรียมส่งต่อแนวทางแก้ปัญหาชาวประมงถึงนายกรัฐมนตรีสัปดาห์นี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขีดเส้น 1 สัปดาห์ ไม่มีผลคืบหน้า จะบุกทำเนียบ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า กำลังเร่งสรุปความเดือดร้อนและข้อเรียกร้องของชาวประมงเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีซึ่งมอบหมายกระทรวงเกษตรฯ เป็นตัวแทนประชุมหารือกับผู้บริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและผู้แทนสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล โดยคาดว่า จะสามารถนำเรียนได้ภายในสัปดาห์นี้ อีกทั้งจะเร่งประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เรื่องสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท ที่ครม. เห็นชอบแล้ว แต่ผู้ประกอบการประมงแจ้งว่า เมื่อไปยื่นขอสินเชื่อที่ธนาคาร ยังติดขัด ไม่สามารถกู้ได้ จึงจะเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด
นายสุรเดช นิลอุบล รองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ยินดีที่นายเฉลิมชัยรับฟังและเข้าใจปัญหาภาคประมง พร้อมรับปากว่า จะเสนอนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด แต่เรื่องที่ข้อให้แก้ไขนั้น เรียกร้องมาเกือบ 6 ปี กลับเหมือนซื้อเวลาตลอด ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงทำหนังสือแจ้งสมาชิกสมาคมประมงทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมยกระดับการเคลื่อนไหว หากผ่านไป 1 สัปดาห์แล้ว ไม่มีความคืบหน้า โดยจะไปชุมนุมใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาล
สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ที่เสนอรมว. เกษตรฯ นั้น ประเด็นสำคัญ การแก้ไขพ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 เฉพาะกฎหมายรองที่มีโทษสูงและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ โดยนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเร็วที่สุด รวมทั้งต้องให้ชาวประมงมีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขกฎหมายด้วย โดยแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภาคประมงระดับชาติชุดใหม่ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แทนคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติซึ่งทำงานซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า ผู้ประกอบการประมงร่วมมือแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และขาดการควบคุม (IUU) การค้ามนุษย์ และการรักษาสมดุลทรัพยาการทางทะเลเพราะชาวประมงต้องการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนเช่นกัน
นอกจากนี้ขอให้เร่งรัดโครงการซื้อเรือประมงออกนอกระบบของภาครัฐสำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์เลิกอาชีพนี้ ยกเลิกระบบติดตามเรือ หรือ VMS แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากแรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถเข้ามาเป็นแรงงานในภาคประมงได้จากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่แรงงานไทยไม่สนใจเข้าทำงานในภาคประมง แม้ผู้ประกอบการยินดีรับก็ตาม และมาตรการให้ความช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบตามกฎหมายให้เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ
“หากรัฐบาลยังเพิกเฉย ชาวประมงทั่วประเทศจะมารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเสนอขายเรือคืนให้รัฐทั้งหมด แล้วเลิกอาชีพประมงอย่างถาวร” นายสุรเดชกล่าว – สำนักข่าวไทย