กรุงเทพฯ 19 ส.ค. – สสว.ร่วมกับกองทัพไทยและทีเอไอ สนับสนุนเอสเอ็มอีไทย ผลิตชิ้นส่วนป้อนศูนย์ซ่อมบำรุง คาดช่วงแรกผลิตชิ้นส่วนได้ถึง 30% รองรับมูลค่างานซ่อมเครื่องบินปีละกว่า 4.5 พันล้านบาท
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่ สสว.และบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (ทีเอไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานซ่อมบำรุงอากาศยานของกองทัพอากาศและหน่วยงานอื่น ๆ นำสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) เยี่ยมชมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานตาคลี จ.นครสวรรค์ และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานลพบุรี จ.ลพบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ขณะนี้เอสเอ็มอีไทยที่ไปร่วมดูงานสามารถปรับตัวและผลิตอะไหล่สนับสนุนการซ่อมบำรุงทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้แล้วบางส่วน คาดว่าช่วงแรกจะสามารถผลิตชิ้นส่วนป้อนให้ทีเอไอประมาณ 30% ของเครื่องบินทั้งลำ และสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
นายวีระพงศ์ เพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะร่วมมือกับทีเอไอ จัดทำโรดแมป เพื่อดำเนินแนวทางความร่วมมือตามมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยนำร่องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ ตลอดจนการให้บริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะกำหนดสัดส่วนงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างจากเอสเอ็มอี คิดเป็นร้อยละ 30 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง และการกำหนดแต้มต่อด้านราคา เพื่อให้เอสเอ็มอีเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดร้อยละ 10 สามารถเป็นผู้ชนะการแข่งขัน ซึ่งทีเอไอ ได้รับสัญญาการซ่อมบำรุงอากาศยานจากกองทัพอากาศปีละ 4,500 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานที่กำหนดสามารถเข้ามามีส่วนแบ่งจากมูลค่างานของ ทีเอไอและจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานดังกล่าว ยังสามารถต่อยอดไปผลิตอากาศยานด้านอื่น ๆ เช่น การผลิตโดรนเพื่อใช้ในการขนส่ง และโดรนด้านการเกษตรต่าง ๆ ทั้งการฉีดยา การตรวจสอบสภาพพื้นที่การเกษตร เป็นต้น ซึ่งผลงานต่าง ๆ เหล่านี้จะนำมาจัดแสดงในงานของกองทัพอากาศเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้
พล.อ.อ.ศิริพล ศิริทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด กล่าวว่า ทีเอไอและกรมช่างอากาศจะถ่ายทอดเทคโนโลยีและประสบการณ์การผลิตให้กับเอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูงมาก เช่น สายไฟ ท่อทาง สายเคเบิลต่าง ๆ แผงเครื่องวัด การผลิตจอเครื่องวัดต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้เองทั้งหมดสำหรับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งนำกระบวนการวิศวกรย้อนกลับ เพื่อศึกษาผลิตอุปกรณ์อากาศยานรวมถึงโครงสร้างเทคโนโลยีคอมโพสิตต่าง ๆ ใช้เองภายในประเทศ
นอกจากนี้ ทีเอไอ ยังร่วมกับบริษัท แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ทั้งนี้ ทีเอไอ ถือเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนการซ่อมบำรุง และการฝึกอบรมให้กับนักบินและช่างเครื่องให้กับเฮลิคอปเตอร์ทางทหารและหน่วยราชการต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ทีเอไอ ได้ดูแลและซ่อมบำรุงอากาศยานที่ประจำการอยู่ทั้งสิ้น 64 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องบินทางทหาร 53 เครื่อง และพลเรือน 11 เครื่อง รวมทั้งเตรียมการให้ ทีเอไอ เป็นศูนย์ประกอบเฮลิคอปเตอร์ในประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ของแอร์บัสระดับโรงงาน ตลอดจนขยายความร่วมมือไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการบินระดับโลก โดยสามารถซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ให้กับภาคพลเรือนภายในประเทศ และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
“การที่แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ เข้ามาร่วมมือกับทีเอไอ ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อที่จะลดต้นทุนในการซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ให้กับลูกค้าในภูมิภาคนี้ และเพิ่มศักยภาพในการเจาะตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น หากผู้ประกอบการไทยผลิตชิ้นส่วนเฮลิคอปเตอร์ผ่านมาตรฐานที่แอร์บัสกำหนด ก็จะยิ่งทำให้มีศักภาพในการแข่งขันกับเฮลิคอปเตอร์บริษัทอื่น ๆ ได้มากขึ้น” กรรมการผู้จัดการ ทีเอไอ กล่าว.-สำนักข่าวไทย