ระยอง 14 ส.ค.- ทีมวิจัยและนิสิตจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC ประยุกต์ความรู้ด้านเอนไซม์เปลี่ยนขยะอินทรีย์ เป็นก๊าซมีเทนและสารบำรุงพืช ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่าน “โครงการขยะเพิ่มทรัพย์”
ขยะมูลฝอยชุมชนในประเทศไทยที่มีมากกว่า 74,998 ตัน/วัน เทียบเท่ากับรถบรรทุก 4,000 คัน หรือมากกว่า 27.37 ล้านตันปี ทำให้ไทยกำลังจะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติ โดยส่วนใหญ่เป็น “ขยะอินทรีย์” เช่น เศษอาหาร เผักผลไม้ ใบไม้ ฯลฯ ถึงแม้จะย่อยสลายได้เร็ว แต่มีมูลค่าต่ำ ทำให้ภาคครัวเรือนไม่มีแรงจูงใจในการแยก เกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น และเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค จึงเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ “ขยะเพิ่มทรัพย์” (C-ROS : Cash Return from Zero Waste and Segregation of Trash) โดยทีมวิจัยและนิสิตจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)
นักวิจัยกว่า 30 คน ทำงานร่วมกัน เพื่อให้ C-ROS เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ แปลงขยะเป็นสารมูลค่าเพิ่มที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนขยะเศษอาหารปริมาณ 1 ตัน ให้เป็นสารมีมูลค่ารวมกันถึงมากกว่า 50,000 บาท
หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่พร้อมใช้งานและสามารถจัดจำหน่ายแล้ว คือ สารบำรุงพืชชีวภาพ “BioVis” ที่มีธาตุอาหารครบถ้วนสมบูรณ์สำหรับพืช ช่วยเร่งดอกผล
จ.น่าน เริ่มใช้งานจริงในระดับชุมชนแล้ว ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในด้านการรณรงค์การแยกขยะ และการใช้พลังงานทางเลือกในระดับชุมชน
การมุ่งสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมไร้ขยะ” ที่สะท้อนเป้าหมายที่กลุ่ม ปตท. เดินหน้าพัฒนาพลังงานสะอาด เปลี่ยนขยะอินทรีย์จากอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ขยะเศษอาหารจากเทศบาลชุมชนและครัวเรือนให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญเพื่อการสร้างรากฐานสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย