นนทบุรี 6 ส.ค. – พาณิชย์เผยเงินเฟ้อ ก.คหดตัวน้อยลงจากเดือน มิ.ย.อยู่ที่ร้อยละ 0.98 สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่เงินเฟ้อทั้งปียังคงติดลบ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.98 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 1.57 ในเดือนก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจาก ราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว อาหารสดกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 3 เดือน ตามความต้องการอาหาร ทั้งการเปิดภาคเรียนใหม่ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาดาเนินการได้ตามปกติ การจัดโปรโมชั่นด้านราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเริ่มลดน้อยลงและอีกหลายปัจจัย ส่งผลทำให้เงินเฟ้อทั่วไป 7 เดือน (ม.ค.- ก.ค.) 2563 ลดลงร้อยละ 1.11 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สัญณาณเงินเฟ้อในช่วงหลังจากนี้ คาดว่าจะมีแนวโน้มกลับมาดีขึ้นจากหลายปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนกลับมา แม้ว่าจะไม่คึกคัก เพราะมีความกังวลจากปัญหาการระบาดโควิด-19 แม้ไทยจะยังไม่มีการติดเชื้อโควิดในประเทศ แต่เป็นปัจจัยกังวลสำคัญต่อบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวแบบระมัดระวังพอสมควร แต่มีสัญณาณที่ดีที่มองว่าเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นแบบเล็ก ๆ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไม่ติดลบมากแม้จะอยู่ในช่วงอัตราเงินฝืด แต่เป็นการฝืดทางเทคนิค เพราะราคาสินค้าโดยรวมไม่ได้ปรับลดราคาลงแม้แต่รายการเดียว ราคาสินค้าส่วนใหญ่แม้จะไม่ลดลงแต่ก็ไม่ได้มีราคาสูงขึ้นมากจนสร้างภาระให้กับผู้บริโภคมากจนเกินไป
ทั้งนี้ สนค.มองว่าจากปัจจัยลบด้านโควิดที่ยังเป็นตัวฉุดความกังวลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวม คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อเดือนหลังจากนี้จะคงอยู่ในแดนลบ แต่จะหดตัวลงไม่มาก ดังนั้น จึงคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะติดลบร้อยละ 1.5-0.7 โดยมีปัจจัย คือ จีดีพีของประเทศติดลบร้อยละ 7.6-8.6 อัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมัน 35-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย