กรุงเทพฯ 1 ม.ค.- กรมธุรกิจพลังงานเตรียมทบทวนค่าการตลาดน้ำมันเพื่อจูงใจขยายจำนวนปั๊มน้ำมันในเมือง
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานกำลังศึกษาเรื่องค่าการตลาดน้ำมันใหม่ จากที่อัตราที่ใช้ติดตามสถานการณ์ 1.50 บาท/ลิตร เป็นอัตราที่ใช้มานานนับกว่าสิบปี ในขณะที่ต้นทุนปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเช่น ค่าแรงงาน ต้นทุนราคาพลังงาน วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น โดยในปี 2560 มีการแข่งขันที่รุนแรง ค่าการตลาดลงไปอยู่ในระดับราว 1.30 บาทต่อลิตรเท่านั้น โดยคาดว่า ในปี 2561 การแข่งขันจะรุนแรงต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีการประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบจะสูงขึ้นจากปีนี้ อยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
“ค่าการตลาดน้ำมันที่ทบทวนใหม่ อาจมองถึงในเขตเมือง ซึ่งที่ดินราคาแพง จะมีค่าการตลาดที่สูงกว่าเพื่อเป็นแรงจูงใจจะเห็นผู้ค้าน้ำมัน เดินหน้าขยายปั๊มน้ำมันมากขึ้น เช่น ถนนสุขุมวิท และถนนเพชรบุรี เป็นต้น เพราะขณะนี้เมื่อหมดสัญญา ปั๊มในเมืองเกิดขึ้นยาก ที่ดินกลายเป็นคอนโดมีเนียม หากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ปั๊มน้ำมันอาจต้องออกไปตั้งในเขตนอกเมือง และผู้ใช้รถจะเสียค่าใช้จ่ายในการขับรถออกไปเติมไกลขึ้น” อธิบดี กรมธุรกิจพลังงานกล่าว
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. มองว่า ค่าการตลาดที่เหมาะสมและอยู่ในระดับที่ผู้ค้าน้ำมัน สามารถแข่งขันได้ ควรไม่ต่ำกว่า 1.70 บาทต่อลิตร เพราะในส่วนนี้ เป็นการแบ่งการดำเนินงานระหว่างผู้ประกอบการปั๊มหรือดีลเลอร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาช่วงราคาน้ำมันสูง ผู้ค้าจะได้ส่วนแบ่งที่ต่ำมาก เพราะ ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจร่วมกันดูแลประชาชน โดยปีนี้ค่าการตลาดจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบและภาวะแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ค่าการตลาดเฉลี่ยช่วง 9 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-ก.ย) ปตท. มีค่าการตลาดอยู่ที่ 1.70 บาทต่อลิตร และในบางช่วงก็ได้อัตราต่ำกว่านี้- สำนักข่าวไทย