กรุงเทพฯ 24 เม.ย.-สภาผู้ส่งออก คาดไตรมาส 2 ของปี 2568 ส่งออกยังดี สหรัฐฯจะยังเร่งนำเข้าสต๊อกสินค้าระหว่างผ่อนปรน Reciprocal Tariff ส่วนครึ่งปีหลังต้องจับตา มองสหรัฐฯ เจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน และท้ายที่สุดอาจเรียกเก็บ Reciprocal Tariff 10% จี้นายกฯนั่งหัวโต๊ะ คณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชนรับมือรูปแบบการค้าใหม่
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกของปี 2568 ส่งออกขยายตัว 15.2% มูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์ หรือ 2,757,249 ล้านบาท เป็นผลสืบเนื่องจากสหรัฐฯ เร่งออเดอร์สินค้า เร่งผลิต เพื่อหนีมาตรการภีตอบโต้ ส่วนไตรมาส 2 มองว่าส่งออกไทยยังดี สหรัฐฯจะยังเร่งนำเข้าสต๊อกสินค้าระหว่างผ่อนปรน Reciprocal Tariff ส่วนครึ่งปีหลังยังต้องจับตาเนื่องจากนโยบายภาษีของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ปรับเปลี่ยนรายวัน แต่อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งออกประเมินว่าสหรัฐฯ จะเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน และในท้ายที่สุดอาจมีการเรียกเก็บ Reciprocal Tariff ในอัตรา 10%
พร้อมเรียกร้องรัฐบาลเร่งจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อรับมือรูปแบบการค้าใหม่ จาก Reciprocal Tariff และเพื่อวางแนวทางดำเนินการในระยะยาว โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เป็นคณะทำงานร่วม รวมถึงวางกลยุทธ์รายกลุ่มสินค้าและคู่ค้า โดยต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพการค้าและการลงทุนที่ได้รับผลจากนโยบายภาษีนำเข้า และเน้นการกระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสในกรอบความร่วมมือ เช่น อาเซียน–สหรัฐ อาเซียน-ยุโรป อาเซียน–จีน อาเซียน–ญี่ปุ่น อาเซียน–เกาหลี และอาเซียน–อินเดีย พร้อมแนะการเจรจากับสหรัฐฯ ควรแยกมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ผลิตภายใต้การลงทุนของสหรัฐ และเพิ่มการนำเข้าสินค้าทุนที่ไทยต้องการจากสหรัฐ
“ประเทศไทยต้องการ long term planning เนื่องจากขณะนี้จีนเข้ามาตั้งฐานผลิตสินค้าเพื่อส่งไปสหรัฐฯ ส่งผลให้ตัวเลขส่งออกสูง แต่ตัวเลขการผลิตของไทยจริงๆ กลับไม่ได้สูงมาก ประกอบกับหลายโรงงานได้บีโอไอ ดังนั้นในช่วง 8 ปี แรกประเทศไทยไม่ได้มีรายได้ภาษีจากโรงงานต่างชาติเลย ผู้ประกอบการไทยก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากถูกตัดราคา ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนระยะยาว รวมถึงเร่งหาตลาดใหม่ สร้างกรอบความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางส่งออกสินค้า” นายธนากร ระบุ
สภาผู้ส่งออกยังขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Reciprocal Tariff ซึ่งมีแนวโน้มทะลักเข้ามาในประเทศไทยและเป็นคู่แข่งไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น เครื่องเล่นเกมส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ภาชนะบนโต๊ะอาหาร ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รถโดยสาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น ซึ่งประเทศจีนมีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นสัดส่วนที่สูงมาก และต้องการหาตลาดทดแทน โดยเสนอมาตรการเพื่อป้องกันการนำเข้าและการเข้ามาลงทุนผลิตในประเทศ แบ่งเป็น
1.ข้อเสนอมาตรการต้านการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ
1.1สิ่งที่ต้องกำกับดูแลตั้งแต่ในประเทศต้นทาง อาทิ สินค้าและโรงงานต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของประเทศไทย สินค้าต้องระบุพิกัดให้ชัดเจน ผู้ส่งออกที่ขายผ่าน E-Commerce Platform ต้องระบุ ID Number ให้ชัดเจน สินค้าที่จะส่งออกมายังประเทศไทย ต้องแจ้งข้อมูลล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนเรือออกจากท่าเรือต้นทาง เพื่อให้ไทยได้ทราบข้อมูลสินค้านำเข้าล่วงหน้า และสามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบฝ่ายไทย อาทิ ตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ ตรวจสอบสินค้าผ่าน Free zone 100% เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออก และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดโดยประเทศปลายทาง และ เพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ
2.ข้อเสนอมาตรการต้านการลงทุนศูนย์เหรียญ ประกอบด้วย
-ทบทวนสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับการลงทุนใหม่
- กำหนดเงื่อนไขกิจการร่วมลงทุนที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน อาทิ มีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ จัดทำข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยี ในทุกกรณีที่มีการร่วมลงทุนกับต่างชาติ กำหนดให้กิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีสัดส่วนการจ้างแรงงานไทยไม่น้อยกว่า 50%
3.ข้อเสนอมาตรการด้านการส่งเสริมค้าระหว่างประเทศ โดยอัดฉีดงบประมาณสำหรับ “การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ” และ “งบสนับสนุนด้านการตลาดแก่ภาคเอกชน” อาทิ SME Proactive ให้มากขึ้น.-517.-สำนักข่าวไทย