กรุงเทพฯ 24 เม.ย. – สตง.ชี้แจงแก้ไขผนังปล่องลิฟต์ หลังผู้รับเหมาพบออกแบบ “ผนังปล่องลิฟต์” ขัดกฎหมาย
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกแถลงการณ์กรณีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) เป็นจุดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของอาคาร และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมานั้น สตง.ชี้แจงว่าการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ สตง. ได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับจ้างออกแบบ (กิจการร่วมค้า บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด) ผู้รับจ้างก่อสร้าง (กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) รวมทั้งผู้รับจ้างควบคุมงาน (กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด) กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุด เกิดขึ้นในช่วงการบริหารสัญญาระหว่างการก่อสร้าง หลังผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่า แบบงานโครงสร้างขัดกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน “ขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบ ทำให้ทางเดินมีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง” ฉบับที่ 55 ( 2543) ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 สตง. จึงได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนี้
1.เมื่อผู้รับเหมาก่อสร้าง ตรวจพบว่า แบบงานโครงสร้างขัดกับงานสถาปัตยกรรมภายใน จึงได้สอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างควบคุมงาน 2. ผู้รับจ้างควบคุมงานในฐานะตัวแทน สตง. ได้มีหนังสือ (Request For Information: RFI) เพื่อสอบถาม และขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างออกแบบ ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามสัญญาจ้าง
- ผู้รับจ้างออกแบบให้ความเห็นตามหนังสือ (RFI) กำหนดรายละเอียดการปรับแก้ผนังปล่องลิฟท์ (CORE LIFT) จากความหนา 0.30 ม. เป็น 0.25 เมตร บริเวณด้านทางเดินและเพิ่มปริมาณเหล็กเสริมให้มั่นคงแข็งแรงตามหลักการทางวิศวกรรม พร้อมจัดทำรายการคำนวณและลงนามรับรอง เพื่อให้ความกว้างช่องทางเดินถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องกับรูปแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน แล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน
- ผู้รับจ้างควบคุมงาน แจ้งรายละเอียดการปรับแก้ไขปรับปรุง เพื่อจัดทำแบบขยายการก่อสร้างตามความเห็นของผู้ออกแบบ โดยผู้ควบคุมงานได้มีวิศวกร ตรวจสอบและลงนามรับรอง ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ของกรมบัญชีกลาง จึงเสนอราคารายการที่เปลี่ยนแปลง โดยมีราคาลดลงเป็นเงิน 515,195 บาท และเสนอขอแก้ไขวงเงินในสัญญาจ้าง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลต่อระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา
- ผู้ควบคุมงาน รายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเสนอมายังคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ในงานจ้างก่อสร้างเพื่อพิจารณาให้ความเห็น 6. คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างเสนอความเห็นต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะผู้ว่าจ้าง เพื่อพิจารณาอนุมัติการแก้ไขสัญญา 7. ผู้ว่าการ สตง. จึงเสนอ คตง. พิจารณาให้ความเห็น โดยไม่เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพัน 8. คู่สัญญาลงนามการแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้าง โดยนำแบบรูปและรายการละเอียดที่แก้ไขเพื่อเป็นเอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จึงยืนยันว่าการแก้ไขสัญญา ทำตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการงบประมาณ 2564. -515-สำนักข่าวไทย