กรุงเทพฯ 22 เม.ย. – “พิชัย” เผย ครม.เคาะ “เครื่องฟอกอากาศ-เครื่องดูดฝุ่น” เป็นสินค้าควบคุม พร้อมกำหนดมาตรการกำกับดูแลให้สินค้ามีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ “เครื่องฟอกอากาศ” และ “เครื่องดูดฝุ่น” เป็นสินค้าควบคุม (เพิ่มเติม) ปี 2568 เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องใช้และสามารถป้องกันหรือบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์สามารถกำหนดมาตรการบริหารจัดการ ป้องกันประชาชนโดนเอารัดเอาเปรียบ
สำหรับรายละเอียดการควบคุม คือ สินค้าเครื่องฟอกอากาศชนิดฟิลเตอร์ (HEPA Filter) และชนิดไอออน (Ionizer) ที่มีขนาดพื้นที่ใช้งานไม่เกิน 80 ตารางเมตร แบบตั้งพื้น และมีวัตถุประสงค์ใช้งานสำหรับภายในอาคารหรือที่พักอาศัย ส่วนสินค้าตัวดูดฝุ่นไฟฟ้า (เครื่องดูดฝุ่น) ชนิดมาตรฐาน แบบมีถุงหรือกล่องเก็บฝุ่นและมีสายเสียบปลั๊กไฟและชนิดด้ามจับ แบบมีสายเสียบปลั๊กไฟ และไม่มีสายเสียบปลั๊กไฟ ที่มีขนาดกำลังไฟฟ้าเข้าที่กำหนดตั้งแต่ 500-2,000 วัตต์ และมีวัตถุประสงค์ใช้งานสำหรับภายในอาคารหรือที่พักอาศัย
ส่วนมาตรการในการกำกับดูแล ได้กำหนดให้ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย แจ้งปริมาณ ราคา และรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าเป็นประจำทุกเดือนในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป เพื่อกำกับดูแลสินค้าให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542
ปัจจุบันสินค้าและบริการควบคุมปัจจุบันมีทั้งหมด 57 รายการ (สินค้า 52 รายการและบริการ 5 รายการ) แยกเป็น 11 หมวด ประกอบด้วย 1.กระดาษและผลิตภัณฑ์ 2.บริภัณฑ์ขนส่ง 3.ปัจจัยทางการเกษตร 4.ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 5.ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ 6.วัสดุก่อสร้าง 7.สินค้าเกษตรสำคัญ 8.สินค้าอุปโภคบริโภค 9.อาหาร 10.อื่น ๆ และ 11.บริการ โดยเครื่องฟอกอากาศและเครื่องดูดฝุ่นที่จะเพิ่มเข้ามาใหม่นั้น จะอยู่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งจะทำให้จำนวนสินค้าและบริการควบคุมเพิ่มขึ้นเป็น 59 รายการ
อย่างไรก็ตาม หลังจากขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุมแล้ว หากตรวจสอบพบการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธการจำหน่าย จะมีโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในส่วนของประชาชน หากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ Line@MR.DIT หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบ และหากพบการกระทำความผิด จะดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด.-516-สำนักข่าวไทย