กรุงเทพฯ 8 เม.ย.- “เฉลิมชัย” เตรียมแจงตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติใน ครม.วันนี้ หลังนายกฯ เซ็นอนมุัติงบ 370 ล้านบาท ด้านปลัด ทส.เผยไทยมีหมู่บ้านเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น 3 เท่า เสี่ยงทะลุหมื่นหมู่บ้าน เสี่ยงเกิดภัยพิบัติเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี จัดเสวนาหัวข้อ “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีของการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจอันจะนำไปสู่การลดความหวั่นวิตกและสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน และพัฒนาขีดความสามารถของทุกภาคส่วนในการเตรียมพร้อม รับมือกับธรณีพิบัติภัย และการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้หลักการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยระบุว่า สถานการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ขนาด 8.2 สร้างความเสียหายจำนวนมากทั้งในประเทศเมียนมาและในประเทศไทย นับเป็นบทเรียนสำคัญที่เราทุกคนต้องสนใจและต้องเรียนรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว การเตรียมความพร้อมในการรับมือจากภัยพิบัติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต และในฐานะที่กรมทรัพยากรธรณีเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการศึกษา วิเคราะห์วิจัยและสำรวจด้านรอยเลื่อนมีพลัง และธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวที่จะต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนให้ความสำคัญของภัยแผ่นดินไหวที่จะส่งผลกระทบตามมาได้ และการสร้างขีดความสามารถให้ประชาชนสามารถปรับตัวให้อยู่กับความเสี่ยงจากธรณีพิบัติภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและ Climate Change ได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น

นายเฉลิมชัย ยังกล่าวถึงการของบกลาง 370 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติ ว่านายกรัฐมนตรีเซ็นอนุมัติแล้ว โดยวันนี้ตนจะไปชี้แจงรายละเอียดให้กับ ครม.รับทราบ เพื่อนำไปดำเนินการรับมืออย่างเป็นระบบในอนาคต ทั้งการปัองกันและการกู้ภัย การใชเทคโนโลยีเครื่องมือต่าง ไม่เฉพาะแผ่นดินไหวเท่านั้น แต่จะรวมภัยพิบัติทุกกรณี
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อยู่กับความเสี่ยงอย่างไรให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” เผยผลสำรวจในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ กรกฎาคม 2555 – ธันวาคม 2566 ในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ไทยเสี่ยงเกิดภัยพิบัติเป็นอันดับ 3 คิดเป็น 6.48% ในเอเชียตะวันออกเเฉียงใต้ เสี่ยงมากที่สุดคือ อินโดนีเซีย 70.49% ขณะที่จำนวนภัยพิบัติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 115 ครั้ง ในปี 2555 สู่ระดับสูงสุดที่ 1,800 ครั้งในปี 2566 การวิเคราะห์แนวโน้มแสดงให้เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2566 ภัยพิบัติที่พบมากที่สุด คือ น้ำท่วม คิดเป็น 62.88% อันดับสอง ดินถล่ม 11.81% อันดับสาม ลมพายุ 6.78% ส่วนแผ่นดินไหว 1.88%
สำหรับประเทศไทย เดิมมีพื้นเสี่ยงภัยพิบัติ อยู่ 4,444 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีการสำรวจใหม่พบว่าเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนแนวคิดการจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติ สืบเนื่องมาจากเหตุดินโคล่นถล่ม ในภาคเหนือเมื่อช่วงปลายปี 2567 ซึ่งขณะนี้กรมทรัพยากรธรณี สำรวจพบจุดเสี่ยงทั้งหมด 600-700 จุด ซึ่งนอกจากการติดตั้งเครื่องมือแล้ว ยังต้องการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการเตรียมความพร้อม ป้องกัน แก้ไขและฟื้นฟูจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
ส่วนการแจ้งเตือนผ่าน SMS นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องนี้ที่จะต้องดำเนินการให้รวดเร็ว ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีมีหน้าที่ให้ข้อมูลที่เร็วที่สุดเพื่อส่งให้หน่วยงานที่จะทำหน้าที่ส่งแจ้งเตือน
ด้านนายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การจัดงานเสวนาในวันนี้ กรมทรัพยากรธรณี ได้บูรณาการองค์ความรู้จากหลายภาคส่วน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหว เพื่อเป็นเวทีให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้กับทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่การลดความหวั่นวิตกและสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งการเสนอแนวทางและมาตรการเพื่อพัฒนาขีดความสามารถการเตรียมพร้อม รับมือกับธรณีพิบัติภัย และการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้หลักการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
กรมทรัพยากรธรณียังได้นำเสนอสมุดรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับล่าสุด พ.ศ.2566 ประกอบด้วยข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในอนาคต โดยประชาชนสามารถตรวจสอบพื้นที่ของหมู่บ้านตนเองได้ว่ามีแนวรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านหรือไม่
“ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อนกระจายในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ พาดผ่าน 23 จังหวัด โดยรอยเลื่อนมีพลังที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางที่ประชาชนรู้สึกได้อยู่ในภาคเหนือ เช่น กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา กลุ่มรอยเลื่อนเถิน กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน กลุ่มรอยเลื่อนเมย กลุ่มรอยเลื่อนปัว กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ และรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ ภาคตะวันตก อาทิ กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และภาคใต้ ประกอบด้วย กลุ่มรอยเลื่อนระนอง และกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย” นายพิชิต กล่าว. -516-สำนักข่าวไทย