กรุงเทพฯ 13 มี.ค. – ม.หอการค้าไทย ประเมินมาตรการภาษี “รัฐบาลทรัมป์ 2.0” กระทบส่งออกไทยหดตัว 5.6 หมื่นล้านบาท ฉุดจีดีพี -0.3% แต่ยังมีมาตรการรัฐชาวยพยุงเศรษฐกิจ คงประมาณการจีดีพีปี 2568 กรอบ 2.8-3.0% ย้ำตั้งทีมเจรจาสหรัฐ –กระจายงบ อปท.หมุนเวียนจ้างงาน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากมาตรการภาษีของ “รัฐบาลทรัมป์ 2.0” ที่ขึ้นภาษีนำเข้า 4 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็ก, ผลิตภัณฑ์เหล็ก, อะลูมีเนียม, ที่มีผลแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.) และรถยนต์ พร้อมด้วยอุปกรณ์และส่วนขยาย ที่จะมีผล 2 เม.ย.2568 โดยการส่งออกสินค้าทั้ง 4 กลุ่มจากไทยไปยังสหรัฐ อาจลดลง 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 21,927 ล้านบาท) โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ รถยนต์และอุปกรณ์ ลดลง 414 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 13,972 ล้านบาท) และผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลง 193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,501 ล้านบาท)
สำหรับผลกระทบทางอ้อมการส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐ โดยการขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 20% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับจีนประมาณ 409 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 13,791 ล้านบาท) ทำให้จีนจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ และสิ่งทอ และเมื่อจีนได้ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐ เพิ่มขึ้นอีก 10-15% ส่งผลให้ วัตถุดิบไทยที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐ ไปจีนลดลงประมาณ 16 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 530 ล้านบาท)

ขณะที่การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานเม็กซิโก-สหรัฐ จากการขึ้นภาษีสินค้าเม็กซิโกอีก 25% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับเม็กซิโกประมาณ 420 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 14,187 ล้านบาท)
ส่วนการส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานแคนาดา-สหรัฐ ที่ขึ้นภาษีสินค้าของแคนาดาอีก 25% สำหรับสินค้าทั่วไป และ 10% สำหรับสินค้ากลุ่มพลังงานอาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับแคนาดาประมาณ 76 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,552 ล้านบาท) และเมื่อแคนาดามีการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐ เพิ่มขึ้นอีก 25% วัตถุดิบไทยที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐ ไปแคนาดาอาจลดลงประมาณ 91 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,080 ล้านบาท)
ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่ามาตรการภาษีของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยลดลงประมาณ 56,067 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.30% ของ GDP ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ทั้งโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 และเฟส 3 รวมถึงโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะส่งผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.32% ทำให้ยังคงประมาณการจดีพีไว้ในกรอบ 2.8-3.0%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย พร้อมย้ำถึงข้อเสนอของหอการค้าไทยขอให้รัฐบาลเร่งตั้ง “ทีมพิเศษ” (Special Team) ที่มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอำนาจสั่งการระดับกระทรวง เพื่อวางแผนรับมือและกำหนดแผนเชิงรุกกกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของนโยบายเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐ กับทั่วโลก ขณะที่มาตรการโอน LTF ไปยังกองทุนใหม่ ThaiESGX ยังไม่สร้างบรรยากาศความมั่งคั่ง เพราะหลายคนขาดทุนไปแล้ว นอกจากนี้ ควรการกระจายงบประมาณไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนการจ้างงาน และขณะนี้เราใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ด้วยการลดดอกเบี้ยอาจไม่เพียงพอจำเป้นต้องมีนโยบายการเงินอื่นช่วน อาทิ การปล่อยสินเชิ่อ พร้อมมองว่าโครงการแจกเงิน 10,000 บาท หากนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือปรับเป็นโครงคนละครึ่ง ก็จะมีเงินเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และมีเงินหมุนอย่างน้อย 2 รอบ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้.-516-สำนักข่าวไทย