พาณิชย์ แจงเงื่อนไขเงินช่วยชาวนา 1,000 บาท/ไร่ งบ 2.8 พันล้าน เงินเหลือช่วยนาปี

กรุงเทพฯ 27 ก.พ. -พาณิชย์ เผยเบื้องหลัง นบข. เคาะไร่ละพันช่วยชาวนา ใช้งบเหลือจ่ายจากมาตรการเข้านาปี เม็ดเงิน 2.8 พันล้านบาท ไม่กระทบงบประมาณ เหตุปรับจากมาตรการฝากเก็บ หวั่นเกษตรกรไม่มาไถ่ถอน จะเป็นภาระรัฐบาล พร้อมเดินหน้าผลักดันปลูกพืชชนิดอื่น หรือใช้ข้าวพันธุ์ที่กรมการข้าวรับรองและเหมาะสม ล่าสุดมีขึ้นทะเบียนแล้ว 2.3 แสนครัวเรือน 4 ล้านไร่ แจ้งเกษตรกรขึ้นทะเบียนก่อน 30 เม.ย.


นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ดำเนินการชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้พี่น้องเกษตรกร โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) วานนี้ (26 ก.พ.) ได้มีนำเสนอมาตรการดูแลราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปีการผลิต 2568 หลายมาตรการ ทั้งมาตรการที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุ นบข.ด้านการตลาด อนุ นบข.ด้านการผลิต และข้อเสนอของเกษตรกร แต่สุดท้ายเลือกมาตรการ ที่ช่วยเหลือชาวนาโดยตรงและจะไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลภายหลัง คือ การจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรโดยตรงไร่ละ 1,000 บาท คนละไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินงบประมาณ 2,867.23 ล้านบาท เพราะเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันที และไม่กระทบการใช้งบประมาณ เพราะมีวงเงินจากมาตรการข้าวนาปี 4.7 หมื่นล้าน เหลือประมาณ 3-4 พันล้านบาท ที่จะต้องส่งคืน และขอนำกลับมาใช้ได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณางบประมาณในการดูแลสินค้าเกษตร พบว่า ปี 2562-65 มีการใช้งบประมาณสูงถึงปีละ 1.07 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหาร ปี 2566-67 ได้ปรับลดงบประมาณดูแล เหลือใช้เพียง 6.5 หมื่นล้านบาท และมีมติ ครม. และ นบข. ที่กำหนดว่า การจัดทำมาตรการ โครงการเพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงแก่เกษตรกร แต่การปรับลด ไม่สามารถทำได้ทันที ต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่าน


“การให้ความช่วยเหลือไร่ละพันในครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ ทั้งที่ปกติ ไม่เคยช่วยเหลือข้าวนาปรัง แต่เมื่อปลูกแล้ว ก็ต้องดูแล โดยในการดูแลครั้งนี้ มีเงื่อนไขชัดเจนว่าเกษตรกรจะต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิต ซึ่ง นบข.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมากำกับดูแล มีสภาพัฒน์ฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชน ตัวแทนชาวนา และกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันดูแล จะผลักดันให้ไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่เหมาะสม หรือถ้ายังอยากจะปลูกข้าว ก็ต้องใช้พันธุ์ข้าวที่ดี มีผลผลิตต่อไร่สูง และเป็นที่ต้องการของตลาด” นายวิทยากร กล่าว

สำหรับขั้นตอนการจ่ายเงินให้กับเกษตรกร จะจ่ายให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวนาปรังโดยตรง โดยที่กำหนดวงเงิน เบื้องต้น ไว้ 2.8 พันล้าน เพราะปี 2567 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนปลูกข้าวนาปรัง 3.2 แสนครัวเรือน ประมาณ 5.5 ล้านไร่ และปี 2568 มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 2.3 แสนครัวเรือน ประมาณ 4 ล้านไร่ โดยเกษตรกรยังสามารถขึ้นทะเบียนได้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2568 จากนั้น จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ

“อย่างไรก็ตาม มาตรการอื่นๆ กรมยังจะดำเนินการช่วยผลักดันราคาข้าวเปลือกให้กับเกษตรกรต่อไป โดยการนำโรงสี ผู้ประกอบการเข้าไปเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูก และยังจะร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง ในการเข้าไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกร เพื่อนำมาผลิตข้าวถุง เป้าหมาย 5 แสนตันข้าวเปลือก จากนั้นจะร่วมมือกับห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่น จัดโปรโมชันลดราคาข้าวถุง เพื่อกระตุ้นการบริโภค เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงฤดูกาลออกมาให้มากที่สุด“ นายวิทยากร กล่าวทิ้งท้าย. -516-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สามีเข้าเกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาดับ

สลด! สามีขับรถใส่เกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาเสียชีวิตในบ้านพักย่านวิภาวดี ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การเบื้องต้น นำตัวสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

คุมฝากขัง “เอ็ม เอกชาติ” เจ้าตัวปิดปากเงียบ

ตร.ไซเบอร์คุมตัว “เอ็ม เอกชาติ” ฝากขัง เจ้าตัวปิดปากเงียบ ไม่ตอบคำถามสื่อ ด้านตำรวจพบเส้นทางการเงินจากเว็บพนัน กว่า 30 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ระดมทีมค้นหาสุดกำลัง ช่วยผู้ที่ติดค้างใต้ซากตึกถล่ม

ระดมทีมค้นหาสุดกำลัง ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างใต้ซากอาคาร สตง. ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ทุกภาคส่วนยังทำงานแข่งกับเวลาและสภาพอากาศที่ร้อนจัด ล่าสุดมีรายงานพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย

“อนุทิน” เซ็นตั้ง คกก.สอบอาคาร สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว

“อนุทิน” เซ็นตั้ง คกก.สอบ หลังตึก สตง.ถล่มจากเหตุแผ่นดิน​ไหว​เพียงตึกเดียว​ คาดรู้ผลใน 7 วัน ยันไล่บี้ตั้งแต่แบบอาคารและการก่อสร้าง ชี้ทั้งบริษัทไทย-จีน​ ต้องรับผิดชอบเต็มร้อย ​ขณะทูตจีนพาผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวพบ

บกปภ.ช. รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหว เสียหาย 18 จังหวัด

บกปภ.ช. รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหว เสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 18 จังหวัด เฉพาะกรุงเทพฯ เสียชีวิต 9 ราย สูญหาย 79 ราย ยังคงเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตจากอาคารถล่ม ขณะที่กรมบัญชีกลางขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 200 ล้านบาท

ยังไม่หมดหวัง กทม. เดินหน้าเต็มที่กู้ชีพตึกถล่ม

ยังไม่หมดหวัง กทม. เดินหน้าเต็มที่กู้ชีพตึกถล่มจตุจักร เข้าสู่ 48 ชม. นานาชาติร่วมส่งเครื่องมือช่วยเหลือ พร้อมเร่งจัดการจราจรให้ทันวันพรุ่งนี้