ส่งออกไทยขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง ม.ค.68 ขยายตัว 13.6%

ก.พาณิชย์ 25 ก.พ. – ส่งออกไทยขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง ม.ค.68 ขยายตัว 13.6% ห่วงส่งออกข้าวหดตัวแรง 32.4% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ชี้ข้าวไทยแพงที่สุดในโลก ปัจจัยจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าว-ผลผลิตต่อไร่ต่ำ-เงินบาทแข็งตัว ด้านเอกชนยอมรับส่งออกไปสหรัฐเร่งตัว ป้องกันความเสี่ยงสงครามการค้า


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ แถลง การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2568 มีมูลค่า 25,277.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (862,367 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 13.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 11.4 โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวกลับสู่กรอบเป้าหมาย และการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิตและผู้บริโภค นอกจากนี้ การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และจีนขยายตัวในระดับสูง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อการค้าโลก

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมกราคม 2568 การส่งออก มีมูลค่า 25,277.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 27,157.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.9 ดุลการค้า ขาดดุล 1,880.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.1 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในขณะที่สินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 2.2 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 45.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 11.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 13.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 19.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 13.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 32.4 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดแคนาดา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เยเมน และจีน แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิรัก แอฟริกาใต้ เซเนกัล และญี่ปุ่น) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หดตัวร้อยละ 11.0 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (ยกเว้น ทุเรียน ขยายตัว) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 7.9 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 16.0 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน ผักกระป๋อง และแปรรูป หดตัวร้อยละ 13.3 กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 17.0 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 45.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน ขยายตัวร้อยละ 148.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 19.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 28.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 33.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน


ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 16.5 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน
เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 18.6 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 16.8 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัวร้อยละ 18.3 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 38.2 หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน

ตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก ประกอบกับตามความต้องการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้น ท่ามกลางความกังวลต่อความเสี่ยงของนโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 22.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน) และจีน ขยายตัวร้อยละ 13.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน)

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมแสดงความเป็นห่วงถึงการส่งออกข้าวที่หดตัว ว่าหลังจากอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกข้าวขาวในเดือน ต.ค.67 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยลดลงทันที 20% และลดลงต่อเนื่อง ทำให้ราคาข้าวตกต่ำลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทั้งจากผลผลิตต่อไร่ที่ลดน้อยลง และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ขณะนี้ข้าวไทยมีราคาแพงที่สุดในโลก ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาดูแลเรื่องดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทย มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5.27 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 68% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด ทั้งเรื่องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เทคโนโลยี การเกษตร เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่ทัดเทียมกับประเทศที่ปลูกข้าว รวมถึงดูแลต้นทุนการผลิต

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 2-3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิต สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลางที่เริ่มคลี่คลาย ดัชนีราคาอาหารโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งสะท้อนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการทดแทนสินค้านำเข้าจากจีน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ สถานการณ์การค้าโลกที่ยังคงตึงเครียด ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตเงินเฟ้อรอบใหม่ในสหรัฐฯ ผลกระทบจากมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันของรัสเซียที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงานและค่าระวางเรือ ตลอดจนผลกระทบจากมาตรการทางการค้าต่าง ๆ เช่น การปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาสมดุลทางการค้า กระจายความเสี่ยงด้านตลาด และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์ที่ท้าทาย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ยอมรับว่าเดือน ม.ค.2568 การส่งออกไปสหรัฐเร่งตัว ส่งผลให้ค่าระวางสูงขึ้น ยอมรับว่านโยบายสงครามการค้าส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนสูง ไทยเองต้องปรับตัว และต้องจับตาว่าใครจะมีข้อตกลงทางการค้า (trade deal) อย่างไร โดยประเมินช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.. การส่งออกจะยังเร่งตัวต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความเสี่ยงผลกระทบจากนโยบายสงครามการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่ ไตรมาส 2 ยังต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง.-516-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สามีเข้าเกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาดับ

สลด! สามีขับรถใส่เกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาเสียชีวิตในบ้านพักย่านวิภาวดี ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การเบื้องต้น นำตัวสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

คุมฝากขัง “เอ็ม เอกชาติ” เจ้าตัวปิดปากเงียบ

ตร.ไซเบอร์คุมตัว “เอ็ม เอกชาติ” ฝากขัง เจ้าตัวปิดปากเงียบ ไม่ตอบคำถามสื่อ ด้านตำรวจพบเส้นทางการเงินจากเว็บพนัน กว่า 30 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ในหลวงทรงรับคนไข้

ในหลวงทรงรับคนไข้เหตุแผ่นดินไหวไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

ในหลวงทรงรับคนไข้เหตุแผ่นดินไหวเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ขณะนายกรัฐมนตรีเยี่ยมผู้บาดเจ็บ แพทย์แจงอาการดีขึ้นแล้ว

Building after collapses in Myanmar in front of monk's eye

แผ่นดินไหวทำตึกเมียนมาถล่ม-ยอดตายเกินพันแล้ว

มัณฑะเลย์ 29 มี.ค.- แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวานนี้ ทำให้อาคารหลังหนึ่งถล่มต่อหน้าต่อตากลุ่มพระสงฆ์ที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในเมียนมาจนถึงขณะนี้เกิน 1,000 คนแล้ว คลิปภาพที่ผู้เห็นเหตุการณ์บันทึกไว้ได้ในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมา และอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวบนบกที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ เห็นกลุ่มพระสงฆ์รวมตัวกันอยู่บนถนนใกล้อาคารหลังหนึ่งที่ค่อย ๆ เสียการทรงตัว ก่อนพังถล่มลงไปทั้งหลังต่อหน้าต่อตา ทำให้เกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่ฟุ้งกระจาย รอยเตอร์รายงานเมื่อเวลา 13:00 น.วันนี้ตามเวลาไทยว่า รัฐบาลเมียนมาแถลงล่าสุดว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเพิ่มเป็น 1,002 คนแล้ว ขณะที่สำนักสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐหรือยูเอสจีเอส ซึ่งแจ้งขนาดแผ่นดินไหวไว้ที่ 7.7 และมีศูนย์กลางลึกเพียง 10 กิโลเมตรประเมินจากแบบจำลองการคาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจจะเกิน 10,000 คน.-814.-สำนักข่าวไทย  

สาเหตุตึกถล่ม

นายกฯ เร่งกรมโยธาดูสาเหตุตึกถล่ม-หาทางแก้

นายกฯ รับรายงายสถานการณ์แผ่นดินไหว เร่งกรมโยธาดูสาเหตุ-หาทางแก้ตึกถล่ม ย้ำ ปชช. มั่นใจได้ เหตุแผ่นดินไหวตอนนี้ไม่กระทบไทยแล้ว เตรียมออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป

วัดเสียหายแผ่นดินไหว

วัด 4 แห่งในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว

สำนักงานพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์เชียงใหม่ สำรวจโบราณสถาน พบวัด 4 แห่งในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว มีทั้งรอยร้าว ฐานพระพุทธรูปอายุกว่า 700 ปีทรุด ยอดฉัตรทองคำหักเอียง