กรุงเทพฯ 20 ก.พ. – นักท่องเที่ยวคุณภาพสูงกำลังกลายเป็นพลังสำคัญที่เพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของภาคการท่องเที่ยว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งจากรายงานของ Oxford Economics และสมาพันธ์สุราและไวน์นานาชาติแห่งเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับตัวเลือกอาหารและเครื่องดื่มมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรม
โดยรายงานฉบับล่าสุดที่จัดทำภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Oxford Economics และสมาพันธ์สุราและไวน์นานาชาติแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific International Spirits & Wines Alliance) หรือ APISWA ระบุว่า ตัวเลือกอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ระดับพรีเมียมมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และช่วยเพิ่มการใช้จ่ายโดยรวมของนักท่องเที่ยวอีกด้วย
รายงานเรื่อง ‘Capturing High Quality Tourism for Southeast Asia: The Impact of Premium F&B Experiences on Destination Choice’ (การส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: อิทธิพลของประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มแบบพรีเมียมที่มีต่อการเลือกจุดหมายปลายทาง) มีข้อมูลเชิงลึกดังนี้
- 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าประสบการณ์ด้าน ตัวเลือกอาหารและเครื่องดื่ม หรือ F&B คือ ปัจจัยสำคัญในการเลือกจุดหมายปลายทาง มากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรม และการช้อปปิ้ง โดย 75% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูงให้ความสำคัญกับปัจจัยนี้
- นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเลือกจุดหมายปลายทางที่นำเสนอประสบการณ์ F&B คุณภาพสูง มากกว่าจุดหมายปลายทางที่มีตัวเลือกจำกัดถึง 2.5 เท่า
- นักท่องเที่ยวพร้อมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 250 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคนต่อวัน สำหรับ F&B ระดับพรีเมียมที่มาพร้อมบริการที่ดีเยี่ยม โดยแนวโน้มนี้ครอบคลุมนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มรายได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวตระหนักถึงคุณค่าที่เพิ่มขึ้นจากข้อเสนอแบบพรีเมียมที่มีคุณภาพสูง
- แนวคิดเรื่อง “ความคุ้มค่า” มีความสำคัญมากสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งกลุ่มรายได้สูงและรายได้น้อยกว่า โดย 78% ของนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงมองว่า “ความคุ้มค่า” เป็นปัจจัยที่ “สำคัญ” หรือ “สำคัญมาก”
- เมื่อพูดถึงประสบการณ์ F&B ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความปลอดภัย’เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด โดย 84% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า “ความปลอดภัย” เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกจุดหมายปลายทาง
การสำรวจครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลจากนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพจำนวน 1,800 คน ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทั้งหมดมาจากประเทศที่เป็นตลาดสำคัญ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า รัฐบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมุ่งเน้นดึงดูดนักท่องเที่ยว “คุณภาพสูง” เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน ประเทศต่าง ๆ ต้องการเพิ่มยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว มากกว่าเพิ่มยอดนักท่องเที่ยว สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการ Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025 โดยตั้งเป้าต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39 ล้านคนในปีนี้ และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ถึง 3.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ทั้งนี้ในปี 2567 ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารโลกจะคาดการณ์ว่า ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยในปี 2568 จะสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่ก็เตือนว่านักท่องเที่ยวอาจใช้จ่ายน้อยลง โดยคาดว่าการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปจะลดลงประมาณ 20% ทั้งนี้โดยส่วนตัวมองว่าถ้ามีการปลดล็อคการห้ามขายสุราในวันพระใหญ่ได้ ไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวมาล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ตรงกับวันพระใหญ่ ไม่สามารถดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ลองคิดดูว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้จะคิดอย่างไร จะมีความประทับใจกับการล่องเรือในครั้งนี้ไหม
นายเรวัตร คงชาติ กรรมการสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน กล่าวว่า ความต้องการประสบการณ์พรีเมียมในภาคการท่องเที่ยวของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยแนวโน้มนี้มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวอายุน้อยและมีกำลังซื้อสูง ซึ่งมองหาตัวเลือกที่ผ่านการคัดเลือกแล้วและมีความเป็นมืออาชีพซึ่งทุกวันนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารกลางคืนจะมีรายได้เฉพาะวันศุกร์กับวันเสาร์ ส่วนวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี แทบจะไม่มีลูกค้า หากวันศุกร์หรือวันเสาร์ เป็นวันพระใหญ่ สัปดาห์นั้นแทบจะไม่มีรายได้เลี้ยงตัวเอง
นายเรวัตร อธิบายต่อว่า ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่ดีเยี่ยมและเหมาะสมที่จะตอบสนองเทรนด์ความต้องการ F&B ระดับพรีเมียม เพราะเป็นประเทศที่มีอาหารที่หลากหลายและโดดเด่น สามารถรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ ที่ผสมผสานจุดเด่นของอาหารท้องถิ่นและอาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
นางอัญชลี ภูมิศรีแก้ว จาก APISWA กล่าวเสริมว่า มีโอกาสสำคัญและการต่อยอดทางธุรกิจที่รออยู่มากมายในวงการ F&B ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นและสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับการท่องเที่ยวได้มากขึ้น โดยสิ่งสำคัญ คือ การที่ผู้กำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวต้องส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการเติบโตของภาคธุรกิจ F&B ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแนวทางการประกอบการใหม่ ๆและส่งเสริมการเติบโตการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องสอดรับกับความคาดหวังของนักท่องเที่ยวด้วย
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)กล่าวว่า รัฐบาล ผู้นำอุตสาหกรรม และคณะกรรมการการท่องเที่ยวจำเป็นต้องร่วมมือกันในการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมธุรกิจ F&B ในประเทศไทย สิ่งนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่า ภาคธุรกิจ F&B ของประเทศไทยสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ทั้งนี้ทีดีอาร์ไอ ยังได้เปิดผลวิจัยว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างรายได้ปีละ 5 แสนล้านบาท รัฐได้ภาษีสูง 1.25 แสนล้านบาท แต่ส่งผลต่อต้นทุนสังคมไทย 1.2 แสนล้านบาท กระทบสุขภาพมากสุด 55% คิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ร้านค้าพื้นที่เมืองใหญ่ขายสุราให้เด็กต่ำกว่า 20 ปีราว 30%
นอกจากนี้ Oxford Economics และ APISWA แนะนำว่า เพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ ผู้กำหนดนโยบายควรเสริมสร้างความพร้อมในการนำเสนอประสบการณ์ F&B ซึ่งหมายถึง การมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ราคาสมเหตุสมผล และเข้าถึงได้ง่ายขณะเดียวกัน ต้องช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงตัวเลือก F&B ที่หลากหลายและบริการที่มีคุณภาพได้สะดวกมากขึ้น เช่น ขยายเวลาเปิดให้บริการของสถานประกอบการ และพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเพื่อการบริการที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นนโยบายสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณา คือ การจำกัดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. การปรับปรุงข้อจำกัดนี้สามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจะช่วยให้ธุรกิจภาคบริการสามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม จะต้องมีนโยบายและข้อบังคับที่สร้างบรรยากาศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีราคาเหมาะสมแข่งขันได้ เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ลดภาษีสินค้าประเภทไวน์เช่นเดียวกันกับที่รัฐบาลฮ่องกงได้ปรับอัตราภาษีสำหรับสุราในบางช่วงราคา เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมสถานบันเทิงยามค่ำคืนและส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับพรีเมียม นโยบายเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม F&B ให้เติบโตยิ่งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม.-513-สำนักข่าวไทย