กรุงเทพฯ 15 ก.พ.- SME D Bank ได้จัดงานปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “บทบาท SME D Bank บนโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ปี 2568” โดยมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 2 กระทรวงร่วมปาฐกถาในหัวข้อเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันการเงินรัฐที่เคียงข้างประชาชน รวมถึงการเสริมสร้างผู้ประกอบการ SME เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ได้จัดงานปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “บทบาท SME D Bank บนโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ปี 2568” ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “เซฟ & สร้าง ผู้ประกอบการ SMEs ก้าวสู่ความยั่งยืน” โดยเน้นถึงนโยบาย “สู้ เซฟ สร้าง” โดยระบุว่า ตั้งแต่เข้าบริหารงานกระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มต้นด้วย “สู้” ต่อสู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายและส่งผลกระทบต่อประชาชน พร้อมๆ ไปกับ “เซฟ” : สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันและเพิ่มโอกาสให้กับ SMEs และ “สร้าง” : พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนต้องใช้ทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็นของผู้ประกอบการ SME ซึ่ง SME D Bank จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการจึงจะทำให้สามารถพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังปาฐกถาในหัวข้อ “มิติใหม่ของสถาบันการเงินรัฐที่เคียงข้างประชาชน” โดยระบุว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินของรัฐ เป้าหมายหลักไม่ใช่การแสวงหากำไร แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากธนาคารพาณิชย์
SME D Bank ควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงของธนาคาร ควบคู่ไปกับการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ธนาคารพาณิชย์มักไม่ปล่อยสินเชื่อเนื่องจากมองว่า มีความเสี่ยงสูง ทำให้ SME ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน
นอกจากนี้ยังแนะว่า การพิจารณาให้สินเชื่อควรครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อให้ธุรกิจของ SME สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยต้องพิจารณาในเชิงลึกและครบถ้วนทั้งระบบ
พร้อมกันนี้ให้นโยบายแก่ SME D Bank ให้ทำงานเชิงรุก โดยเข้าหาลูกค้าแทนที่จะรอให้ผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่งมาขอสินเชื่อด้วยตนเอง เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการ SME ที่อ่อนแอและไม่รู้จักธนาคารอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยในการทำงาน ขอให้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อผลักดันธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโต จากที่มีตลาดเฉพาะในประเทศก็สามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้.-512.-สำนักข่าวไทย