กรุงเทพฯ 11 ก.พ. – ภาครัฐเร่งพัฒนาระบบ IBAS ตรวจสอบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของธุรกิจ เปิดระบบการตรวจสอบที่อยู่เพื่อป้องกันการใช้ที่อยู่ประชาชนมาสวมรอย ในการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมชงเพิ่มฐานความผิดนอมินีในกฎหมาย ปปง. เตรียมจัดชุดสายตรวจปูพรม เผยปราบปรามนอมีนี แล้วรวม 820 ราย มูลค่าเสียหายรวมกว่า 12,495 ล้านบาท
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) ครั้งที่ 3 วานนี้ (10 ก.พ.) ทุกหน่วยงานร่วมมือปราบปราม ด้วยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าวอย่างจริงจัง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยภาครัฐมีการพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบธุรกิจที่มีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของธุรกิจ ได้แก่ ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมนิติบุคคล Intelligence Business Analytic System (IBAS) ซึ่งขณะนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เร่งพัฒนาและจะแล้วเสร็จใช้งานได้ในไม่ช้า พร้อมกันนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง. ) จะเร่งปรับปรุงกฎหมายกำหนดให้ความผิดนอมินีเป็นมูลฐานความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อีกด้วย
ในส่วนของการติดตาม นอกจากระบบแล้ว ที่ประชุมได้มีการเตรียมจัดตั้ง ‘คณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย’ ขึ้น เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจนอมินีและสินค้าที่ไม่มีคุณภาพร่วมกัน และเตรียมตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันสืบสวน สอบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในพื้นที่ทั่วประเทศร่วมกันต่อไป

“ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนช่วยกันตรวจสอบที่อยู่ของท่าน โดยปัจจุบันท่านสามารถนำที่อยู่ของตนเองไปตรวจสอบการสวมรอยแอบอ้างไปจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อไปกระทำความผิด โดยตรวจสอบได้ทาง Website กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากพบความผิดปกติ ขอให้ท่านแจ้งไปยังสายด่วน 1570 ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะได้เร่งดำเนินการต่อไปเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้” นายนภินทร กล่าว
ทั้งนี้ การจับกุมและดำเนินคดีกับนอมินีที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย ดำเนินการรวมทั้งสิ้น 820 ราย มีมูลค่า ความเสียหายรวมกว่า 12,495 ล้านบาท (ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 – 31 มกราคม 2568) แบ่งเป็น 4 ประเภทธุรกิจ 1) ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง จำนวน 104 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 596 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเกี่ยวเนื่อง จำนวน 228 ราย มูลค่าความเสียหาย 8,890 ล้านบาท 3) ธุรกิจขนส่งทางบก จำนวน 11 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 32 ล้านบาท และ 4) ธุรกิจอื่นๆ จำนวน 477 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 2,976 ล้านบาท
กรมพัฒนาธุรกิจฯ ยังเปิด ระบบเช็ค ‘ที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคล’ชวนประชาชนร่วม ‘ปราบบริษัทผี’ หยุดขโมยที่อยู่ไปหลอกตั้งธุรกิจ ซึ่งระบบนี้ประชาชนทุกท่านสามารถเข้ามาใช้งานเพื่อตรวจเช็คที่อยู่ของตนเองว่าถูกมิจฉาชีพนำไปจัดตั้งนิติบุคคลโดยไม่ได้ยินยอมหรือไม่ โดย เข้าไปที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th >> Hot Service >> ตรวจสอบที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคล >> กรอกข้อมูลที่อยู่ให้ครบถ้วนและกดค้นหาข้อมูล หากที่อยู่ที่กรอกไปนั้นได้ใช้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ระบบจะแสดงข้อมูลรายละเอียดเบื้องต้นของนิติบุคคล ได้แก่ เลขทะเบียนนิติบุคคล ชื่อนิติบุคคล และที่ตั้งสำนักงาน

หากประชาชนพบว่าที่อยู่ของตนเองถูกนำไปใช้จัดตั้งนิติบุคคลโดยไม่ได้รับทราบมาก่อนหรือไม่ยินยอม สามารถส่งหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบที่ตั้งสำนักงานใหญ่แห่งนั้นได้ โดยผู้ที่ขอตรวจสอบจะต้องเป็นเจ้าบ้าน หรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือเจ้าของสถานที่ พร้อมแนบเอกสารดังนี้1) สำเนาทะเบียนบ้าน (เจ้าบ้าน) /สำเนาโฉนดที่ดิน (เจ้าของกรรมสิทธิ์) 2) สำเนาบัตรประชาชน 3) สัญญาเช่า และหนังสือยกเลิกสัญญาเช่า (ถ้ามี) 4) แผนที่สถานที่ตั้ง 5) ผู้ประสานงาน/เบอร์โทรศัพท์/ที่อยู่ในการติดต่อ และ 6) ข้อมูลอื่นๆ (ถ้ามี) ทั้งนี้ หากที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลที่ร้องขอให้ตรวจสอบอยู่พื้นที่กรุงเทพมหานครให้ส่งหนังสือและเอกสารมาถึงผู้อำนวยการกองธรรมาภิบาลธุรกิจ ที่อยู่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 563 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 และกรณีที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ส่วนภูมิภาคหรือต่างจังหวัดให้ยื่นต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่นิติบุคคลนั้นตั้งอยู่ หรือส่ง e-Mail มาที่ cgbusiness@dbd.go.th
สำหรับนิติบุคคลที่กรมฯ ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีที่ตั้งตามที่จดทะเบียนอยู่จริง กรมฯ จะดำเนินการหมายเหตุไว้ในระบบจดทะเบียนว่านิติบุคคลดังกล่าวว่า ‘ไม่มีที่ตั้งตามที่จดทะเบียนไว้’ และส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีฐานแจ้งข้อความเท็จ พร้อมหมายเหตุบนหน้าหนังสือรับรอง และระบบ DBD Datawarehouse+ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบด้วย
นอกจากนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม เรื่อง การเรียกเอกสารยินยอมให้ใช้สถานที่เป็นที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคล เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย แสดงความเห็นผลดี-ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และจะนำมาปรับขั้นตอนการให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลได้อย่างรัดกุมต่อไป คาดว่าจะผลได้รับทราบประชาพิจารณ์ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2568. -511-สำนักข่าวไทย