กรุงเทพฯ 21 ม.ค. – HSBC มอง ทรัมป์ 2.0 หนุนตลาดหุ้นสหรัฐ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นโอกาสของอาเซียน มองจีดีพี เอเชีย ปี 68โต 4.4% จากการเติบโตที่แข็งแกร่งในอินเดียและอาเซียน รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องของจีน แนะกระจายความเสี่ยงลุยหุ้นนอกกลุ่ม 7 นางฟ้า
มร.เจมส์ เชียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย (Chief Investment Officer, Southeast Asia and India) ของเอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวท แบงค์กิ้ง กล่าวว่า หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ การเดินหน้าในการขับเคลื่อน American First เป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดหุ้นสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ จึงคิดว่าตลาดหุ้นสหรัฐก็ยังสามารถไปต่อได้ดี แต่ Earning ที่จะเข้ามา มองว่าจะมาจากกลุ่มที่ไม่ใช่หุ้น 7 นางฟ้า จะมีการกระจายตัวไปยังภาคอุตสาหกรรม แฮลท์แคร์ จังไม่อยาก focus ที่หุ้น 7 นางฟ้าอีกต่อไปอยากให้มีการกระจายไปยังกลุ่มอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ดี แม้นโยบายของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อความไม่แน่นอนของนโยบายในประเทศ การค้า และการคลัง แต่เราเชื่อว่าการปรับลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบทางการค้าจะส่งผลบวกต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในสหรัฐฯ ซึ่งสิ่งนี้ตอกย้ำมุมมองเชิงบวกในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นต่างประเทศทั่วโลก และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
“เราคาดว่าความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางการค้าจะเพิ่มความต้องการสินทรัพย์ที่เน้นลดความเสี่ยง (tail-risk hedges) และการกระจายพอร์ตการลงทุน เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำและกองทุนกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ตลอดจนกระจายการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ที่ซื้อขายกันนอกตลาดหรือ Private Market และจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสำคัญหลายแห่งทั่วโลก (ยกเว้นธนาคารกลางญี่ปุ่น) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้ โดยเฉพาะเฟด ที่คาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% อีกสามครั้งในเดือนมีนาคม มิถุนายน และกันยายน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงเป้าหมายที่ 3.50%-3.75% ภายในเดือนกันยายน พ.ศ.2568 แต่ทั้งนี้เชื่อว่าการลงทุนในหุ้นจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ ในขณะที่ตราสารหนี้มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการถือเงินสด” มร.เจมส์ กล่าว
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นอื่น ๆ มองว่าตลาดหุ้นที่น่าสนใจ คือ ตลาดหุ้นอินเดีย ยังได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และการลงทุนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่อินเดียมีความโดดเด่น นอกจากนี้ ยังมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ยังมีโอกาสลงทุนได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจโลกยังมีการเติบโตได้ต่อเนื่อง รวมถึงตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่ได้รับประโยชน์ในการลงทุนต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น
การเติบโตที่แข็งแกร่งในอินเดียและอาเซียน รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องของจีน จะเป็นปัจจัยหลักหนุนให้จีดีพี เอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) เติบโตได้ถึง 4.4% ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน-6 (ASEAN-6) จะมีการเติบโตของ GDP ที่แข็งแกร่งถึง 4.8% โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศและการลงทุน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเติบโตของการส่งออกที่อ่อนแอท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านการค้า อย่างไรก็ตามประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับการส่งออกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI ในอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของ global tech upcycle โดยเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนยังคงได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ขับเคลื่อนด้วยการจำกัดการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการกีดกันทางการค้าต่อจีน
ส่วนประเทศไทย มองว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่คาดว่าจะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการคลัง และการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.3% นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยก็กำลังฟื้นตัว โดยผู้ส่งออกเร่งการส่งมอบสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากภาษีนำเข้า ภาคการท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากมุมมองเชิงกลยุทธ์ของเอเชียในด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน ทำให้เราลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยเล็กน้อย เนื่องจากเราเห็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจกว่าในตลาดเอเชียอื่น ๆ สำหรับด้านอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่า ดอลลาร์สหรัฐต่อบาทไทย (USD-THB) จะมีความผันผวนเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า โดยคาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง USD-THB จะสิ้นสุดปีที่อัตรา 36.0
“เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน อย่างไรก็ตาม นโยบายการคลังจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต เนื่องจากธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง” มร.เจมส์ กล่าว
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในเอเชียในไตรมาสที่ 1 ปีพ.ศ. 2568 แนะนำ 4 ธีมการลงทุนที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1.บริษัทในเอเชียที่เป็นผู้นำธุรกิจของประเทศ โดยพบโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในจีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในฐานะผู้นำและการเติบโตของรายได้ที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม 2.ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นของบริษัทในเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่า ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นในเอเชีย (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) จะเพิ่มขึ้นถึง 12% ในปี พ.ศ. 2568 3.การเติบโตของอินเดียและอาเซียน (ASEAN) และ 4.ตราสารหนี้เอเชียที่มีคุณภาพสูง. -517-สำนักข่าวไทย