นครพนม 20 ม.ค. – กระทรวงเกษตรฯ ส่งออกทุเรียนคุณภาพลอตแรกไปจีน ณ ด่านพรมแดนนครพนม หลังทางการจีนปลดล็อก จากการที่กรมวิชาการเกษตรออกมาตรการตรวจสอบสารปนเปื้อนอย่างเข้มงวด ย้ำยึดหลักมาตรการ “4 ไม่” พบล้งใดฝ่าฝืน สั่งปิด-ดำเนินคดีทันที
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจติดตามการส่งออกทุเรียนปลอดสาร Basic Yellow 2 และแคดเมียม ณ ด่านพรมแดนนครพนม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม จากนั้นนำเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการส่งออกทุเรียนไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร โดยกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายเร่งด่วนให้ขับเคลื่อน “นโยบายผลไม้ปลอดภัย มีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศและส่งออก”
ทั้งนี้ ถือเป็นข่าวดีที่สามารถปลดล็อกทุเรียนไทยส่งออกไปจีนได้แล้ว โดยได้รับรายงานจากกรมวิชาการเกษตรว่า ในวันที่ 20-21 มกราคม 2568 จะมีการส่งออกทุเรียนทางบก 6 ชิปเม้นท์ ปริมาณ 96 ตัน มูลค่าประมาณ 7.8 ล้านบาท คือทางด่านตรวจพืชนครพนม จำนวน 3 ชิปเมนท์ และทางด่านตรวจพืชเชียงของ จำนวน 3 ชิปเมนท์ โดยในทุกชิปเมนท์ได้รับการรับรองรายงานผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการแล้ว
นายอิทธิ กล่าวย้ำว่า กระทรวงเกษตรฯ มุ่งมั่นสร้างความมั่นใจในทุเรียนไทยให้แก่ประเทศคู่ค้า ตลอดจนเร่งรัดกระบวนการแก้ปัญหาเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย สินค้าเกษตรทุกชนิดต้อง set zero ปลอดสารปนเปื้อน หากฝ่าฝืนมาตรการจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการทำลายชื่อเสียงประเทศไทย
ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนมีมาตรการเข้มงวดในการนำเข้าทุเรียน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 โดยต้องตรวจสอบสาร Basic yellow 2 ในทุเรียนและแนบรายงานผลการทดสอบในทุเรียนทุกล๊อตการผลิตที่ส่งออกจากไทย ล่าสุดได้รับรายงานจากกรมวิชาการเกษตรว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ว่า ทางสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้อนุญาตให้ใช้ห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถในการทดสอบสาร Basic yellow 2 จำนวน 6 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์ รวมกันได้ 700 ตัวอย่าง/วัน โดยการตรวจวิเคราะห์จะใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมง ดังนี้ 1. บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาเชียงใหม่ 2. บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขากรุงเทพฯ 3. บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา 4. บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาสมุทรสาคร 5. บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาสงขลา 6. บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) AMARC
ในสัปดาห์หน้าจะมีห้องปฏิบัติการเพิ่มอีก 4 แห่ง ทำให้สามารถรองรับตัวอย่างการตรวจวิเคราะห์รวมได้ 1,300 ตัวอย่าง/วัน ซึ่งมีศักยภาพรองรับการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกและภาคใต้ในฤดูกาลที่จะถึงนี้ ได้เป็นอย่างดี
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรสุ่มเก็บตัวอย่างทุเรียนเพื่อทดสอบ Basic yellow 2 แล้วตั้งแต่ค่ำวันที่ 17 มกราคม 2568 จนได้ผล Test Report ที่ใช้ประกอบการส่งออกทุเรียนไปจีนตามเงื่อนไขที่จีนกำหนด โดยได้เริ่มเก็บตัวอย่างภายหลังจากการแจ้งการอนุญาตให้ห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถทั้ง 6 แห่งที่ได้รับการอนุญาตจาก GACC เข้าเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 20 – 21 มกราคม 2568 รวมจำนวน 11 ล้ง 13 ชิปเมนท์ ปริมาณ 155.5 ตัน มูลค่ากว่า 11 ล้านบาท จากตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี 5 ล้ง 7 ชิปเมนท์ ปริมาณ 58.5 ตัน มูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท และตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดชุมพร 6 ล้ง 6 ชิปเมนท์ ปริมาณ 97 ตัน มูลค่าประมาณ 8 ล้านบาท
พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรให้ตรวจสอบใบรายงานผลการทดสอบ Basic yellow 2 ในเนื้อและเปลือก ต้องตรวจไม่พบหรือ Not Detected และ Cadmium ในเนื้อ (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 0.05mg/kg) จึงจะออกใบรับรองสุขอนามัยพืช PC เพื่อแสดงที่ด่านนำเข้าของประเทศจีน นอกจากนี้ขอให้ผู้ประกอบการส่งออกมาตรการเข้มงวด 4 ไม่ ได้แก่ 1.ไม่อ่อน 2.ไม่หนอน 3.ไม่มีสวมสิทธิ์ และ 4.ไม่สี ไม่มีสารเคมีต้องห้าม มีเป้าหมาย “Set Zero” การใช้สารเคมีในโรงคัดบรรจุทั้งหมด เพื่อรักษาตลาดทุเรียนไทยที่ส่งออกไปจีน ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทและอีกหลายแสนล้านให้กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ. -512 – สำนักข่าวไทย