กรุงเทพฯ 14 ม.ค.-ประธานสภาพัฒน์ ห่วงเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2568 อ่อนแรงลง หากนโยบายการเงินไม่เปลี่ยนแปลง ชี้หลังโควิดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบกระท่อนกระแท่น ปี 2568 ก็น่าจะไม่แตกต่าง จับตานโยบาย “ทรัมป์” กระทบทั่วโลก ชี้ดอกเบี้ยจริงที่เหมาะสมของไทยควรอยู่ในกรอบ 0-1%
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้อาจโตช้ากว่าเดิม ห่วงเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี2568 จะอ่อนแรงลง เผยหลังโควิด เศรษฐกิจไทฟื้นตัวแบบกระท่อนกระแท่น และสำหรับปี 2568 ก็มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในลักษระเดียวกัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้ลงเร็ว จากปัจจัยหลัก คือ นโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ ซึ่งทุกนโยบายที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อทั้งสิ้น ซึ่งต้องจับตา การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสหรัฐกำลังจะเกิดขึ้น หลัง 20 ม.ค. นี้ ที่นายโดนัล ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย ดร.ศุภวุฒิ มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายจริงที่เหมาะสมของไทยควรอยู่ในกรอบ 0-1% ซึ่งในความเป็นจริงสามารถลงได้นานแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติเมื่อ 2 ปีที่แล้ว 0.50% เป็น 2.50% สุดท้ายกลับไม่มีความจำเป็น ตอนนั้นเงินเฟ้อดิ่งลงอย่างรุนแรง ปีที่แล้วดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.4% ขณะที่เงินเฟ้อปีที่แล้วอยู่ที่ 0.4% ฉะนั้นดอกเบี้ยจริงของไทยสูงถึง 2% ขณะที่เมื่อ 5 ปีก่อนโควิด ดอกเบี้ยนโยบายจริงเพียง1% ฉะนั้นที่แบงก์ชาติบอกว่าดอกเบี้ยนโยบายเป็นกลางไม่ใช่เข้มข้นเกินไป ตนเองไม่เห็นด้วย
“ดอกเบี้ยนโยบายที่บอกว่าเป็นดอกเบี้ยที่เป็นกลาง ไม่ได้เข้มข้นเกิดไป ผมขอเถียงว่ามันเข้มข้นเกินไปเพราะดอกเบี้ยจริงมันสูงเหลือเกิน มันเท่าตัวเมื่อเทียบกับก่อนโควิด ซึ่งก่อนโควิดจีดีพีเราโต 3% โดยเฉลี่ย แต่ตอนนี้เราโตไม่ถึง 3 แต่ทำไมดอกเบี้ยเราโตกว่าเท่าตัว แบงก์ชาติบอกว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเข้ากรอบต้นปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นกลับเข้ากรอบเลย ซึ่งตนสงสัยว่าจะเข้ากรอบได้ยาก เพราะว่าประทศที่ใหญ่มากอย่างจีน เงินเฟ้อเขาต่ำมาเรื่อยๆ ดัชนีราคาผู้ผลิตติดลบต่อเนื่องมา 18 เดือน มันไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ นอกจากนั้นแบงก์ก็ยังไม่ปล่อยสินเชื่อแล้วเงินเฟ้อจะมาจากไหน ส่วนดอกเบี้ยนโยบายจริงที่เหมาะสมของไทยอยู่ระหว่าง 0-1% หักเงินเฟ้อออกก่อน” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ส่วนแนวคิดของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้กระทรวงการคลังนำ LTF กลับมาใช้นั้น มองว่า ในหลักการต้องเป็นบวกกับคนที่ซื้อแน่นอน มีดีมานด์โฟลว์เข้าไปตลอด และหุ้นก็ควรจะได้รับแรงซัพพอร์ต และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนก็จะโตขึ้น และสส่งผลให้การระดมคึกคัก แต่ข้อเสียคือ รัฐบาลจะต้องยอมสูญเสียรายได้จากภาษี เพราะต้องการกระตุ้นการส่งเสริมขยายกิจการแทนการกู้เงิน
ส่วนแนวคิดการนำ Stable Coin มาใช้นั้นของนายทักษิณ นั้นตนมองว่าเป็นทางเลือกเพื่อความสะดวก สบายมากขึ้น ซึ่งทราบว่าจะมีความพยายามให้ควนรวยมาใช้ ทั้งนี้การจะเป็นสกุลเงินได้จะต้องสามารถแลกเปลี่ยนได้ ได้รับการยอมรับว่าสามารถเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้าได้จริง สามารถทำบัญชีรายรับ รายจ่ายหนี้สินได้ และมีมูลค่าสามารถแจ้งทรัพย์สินกับ ปปช.ได้ การจะตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อนี้ได้ราคาจะต้องนิ่ง.-517.-สำนักข่าวไทย